สภาพการจราจรในปัจจุบันนี้ถือว่ามีความหนาแน่นเป็นอย่างมาก ยิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนแล้วอาจทำให้สภาพการจราจรติดขัดได้เป็นอย่างมาก จึงทำให้หลายคนต่างต้องเผื่อเวลาออกเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อป้องกันรถติด แต่ก็มีอีกหนึ่งทางเลือกที่หลายคนนิยมใช้กันคือการใช้บริการทางด่วนที่สามารถมอบความสะดวกสบายและช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดได้ แต่ก็ใช่ว่ารถทุกประเภทหรือรถทุกคันจะสามารถขึ้นทางด่วนได้ เพราะการใช้บริการทางด่วนนั้นมีข้อบังคับอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของประเภทรถที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทางด่วนนั้นจะมีรถอะไรกันบ้าง ตามไปหาคำตอบพร้อมกันในบทความนี้
ทางด่วน คืออะไร
ทางด่วน คือ ทางพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการใช้ถนน และเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด รวมทั้งยังช่วยทำให้เดินทางไปถึงที่หมายได้รวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย แต่จะมีการคิดค่าใช้จ่ายตามระยะทางที่แตกต่างกันออกไป และก็ไม่ได้หมายความว่ารถทุกชนิดจะสามารถขึ้นทางด่วนได้ ด้วยเหตุผลและข้อจำกัดด้านความปลอดภัยในหลายด้าน จึงทำให้มีการจำกัดรถบางประเภทที่ห้ามขึ้นทางด่วน ซึ่งล่าสุดการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ออกมาเผยรายชื่อรถที่ห้ามใช้ทางด่วนมีทั้งหมด 12 ชนิด
ทางด่วน คืออะไร
รถที่ห้ามใช้ทางด่วน
รายชื่อรถที่ห้ามใช้ทางด่วนมีทั้งหมด 12 ชนิด ดังนี้
- รถจักรยาน ถือว่าเป็นยานพาหนะที่มีความปลอดภัยน้อยที่สุด หากนำมาขับขี่บนทางด่วนจะส่งผลอันตรยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างมาก เพราะโดยปกติแล้วการปั่นจักรยานบนท้องถนนธรรมดาก็มีความเสี่ยงมากพอสมควร ทางที่ดีควรขับขี่บนถนนที่ระบุเอาไว้สำหรับจักรยาน เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้ถนนทุกคน และยังเป็นการไม่เข้าไปขัดขวางเส้นทางการจราจรอีกด้วย
- รถจักรยานยนต์ ตาม พรบ. จราจรทางบกได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า รถจักรยานยนต์จะต้องวิ่งในเส้นทางด้านซ้ายสุดของถนน และต้องใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทางด่วนมีใช้งานสำหรับรถที่มีความเร็วในระดับหนึ่ง หากผู้ใดฝ่าฝืนขับรถจักรยานยนต์ขึ้นทางด่วนจะถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินคดีได้
- รถล้อเลื่อน หรือรถขายของที่หลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คงไม่มีใครอยากที่จะเข็นขึ้นไปอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะไม่สามารถทำความเร็วได้แล้ว ยังเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นอีกด้วย ซึ่งสามารถขัดขวางการจราจรและทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้
- รถสามล้อ หรือรถตุ๊กตุ๊ก มีข้อบังคับทางกฎหมายห้ามนำรถยนต์สามล้อขับขึ้นไปบนทางพิเศษ เนื่องจากเป็นรถที่ไม่มีการปกปิดอย่างมิดชิด จึงไม่มีความปลอดภัยและสามารถก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ขับขี่และผู้ใช้ถนนคนอื่น ๆ ได้
- รถฝึกหัดขับหรือรถทดลองเครื่อง เนื่องจากบนทางด่วนมีการขับขี่ด้วยความเร็วมากกว่าเส้นทางทางปกติ การนำรถประเภทนี้ขึ้นมาขับบนทางด่วนจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ หากมีการฝ่าฝืนอาจเกิดอุบัติเหตุจากการทดลองเครื่องยนต์ รวมทั้งยังเป็นการขัดขวางการจราจรบนทางพิเศษอีกด้วย
- รถแทรกเตอร์และรถบดถนน รถประเภทนี้เป็นรถยนต์ที่ใช้สำหรับเฉพาะทางและไม่ได้ใช้ขับขี่บนท้องถนนปกติทั่วไป เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักเกินกว่าที่ทางพิเศษได้กำหนดไว้ รวมถึงยังเป็นรถยนต์ที่มีการเคลื่อนตัวช้า หากฝ่าฝืนและขับขึ้นไปอาจไปกีดขวางเส้นทางการจราจรจนทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
- รถบรรทุกที่มีความสูง ความกว้าง และน้ำหนักเกินกำหนด ตามกฎข้อบังคับทางพิเศษได้ระบุเอาไว้ว่า รถบรรทุกที่มีความสูงมากกว่า 4 เมตร มีความกว้างเกิน 2.5 เมตร และมีรัศมีวงเลี้ยวเกิน 12 เมตร ยกตัวอย่างเช่น รถบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ห้ามใช้ทางพิเศษเพราะว่าขนาดของตัวรถอาจทำให้มีการเคลื่อนตัวช้าจนเกิดการขีดขวางเส้นทางที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
- รถกระบะที่มีคนนั่งท้ายโดยที่ไม่มีหลังคาปิด หากไม่พูดถึงเรื่องของกฎหมายและมองด้วยตาเปล่าก็คงจะดูเป็นเรื่องอันตรายไม่ใช่น้อยถ้าปล่อยให้รถกระบะที่มีคนนั่งท้ายโดยที่ไม่มีอะไรปิดกั้นขับขึ้นไปบนทางพิเศษ เนื่องจากว่ารถยนต์แต่ละคันจะใช้ความเร็วสูง จึงทำให้ส่งผลต่อผู้ที่นั่งหลังกระบะได้เป็นอย่างมาก รวมทั้งยังส่งผลอันตรายต่อผู้ใช้ถนนคันอื่น ๆ อีกด้วย
- รถบรรทุกสัตว์และสิ่งของโดยที่ไม่มีการผูกมัดให้แข็งแรง เพราะการที่ไม่ผูกมัดให้เกิดความมั่นคงจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น เช่น สิ่งของตกหล่นไปโดนรถคันหลังที่ตามมา
- รถที่ใช้เพื่อการโฆษณา โดยรถประเภทนี้ถูกห้ามวิ่งใช้งานบนทางพิเศษเช่นเดียวกัน เนื่องจากรถที่ใช้สำหรับการโฆษณาจะถูกติดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ส่งผลทำให้บดบังการมองเห็นของรถคันอื่นที่ขับตามมา รวมทั้งยังเป็นการขัดขวางการจราจร และกีดขวางการไหลลื่นของการจราจรอีกด้วย
- รถบรรทุกวัตถุอันตราย โดยตามข้อบังคับการจราจรบนทางพิเศษการห้ามนำรถบรรทุกวัตถุอันตรายจำพวก น้ำมัน ก๊าซไวไฟ เป็นต้น ขับขึ้นบนทางพิเศษจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่นได้ รวมทั้งยังมีขนาดของตัวรถที่ใหญ่จนอาจบดบังการมองเห็นของรถคันอื่น ๆ จึงได้มีการออกกฎข้อยกเว้นให้รถเหล่านี้สามารถใช้ทางพิเศษได้ตามระยะเวลาที่กำหนด คือ ห้ามขับบนทางพิเศษช่วงเวลา 05.00-09.00 น. และช่วงเวลา 15.00-21.00 น. ของทุกวัน ยกเว้นทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษอุดรรัถยา
- รถบรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรวมเกิน 4,000 กิโลกรัม ซึ่งรถเหล่านี้มีจะมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ รวมถึงน้ำหนักเยอะจนอาจทำให้บดบังการมองเห็นของผู้ใช้รถคันอื่น
รถที่ห้ามขึ้นทางด่วน
อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ฝ่าฝืนขับรถดังกล่าวขึ้นบนทางพิเศษ ถือว่ามีความผิดทางกฎหมายและมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ดังนั้น ก่อนที่จะขึ้นทางด่วนพิเศษแต่ละครั้งควรตรวจเช็กให้ดีว่ายานพาหนะของผู้ขับขี่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
ดูเพิ่มเติม
5 รถสำหรับผู้สูงอายุ มีรุ่นไหนบ้างที่น่าสนใจ
เกียร์ S คืออะไร ใช้ตอนไหนดี