ถ้าวิ่งได้ก็ต้องหยุดได้ เพราะถ้าหยุดไม่ได้อะไรจะเกิดขึ้น ฉะนั้นระบบเบรกในรถยนต์จึงสำคัญและระบบเบรคที่ดีทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เราขับรถได้อย่างมั่นใจปลอดภัยอย่างไม่ต้องสงสัย ผู้ใช้รถส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญกับระบบเบรค ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรก เปลี่ยนผ้าเบรค ตามระยะอายุการใช้งาน แต่สิ่งที่หลายคนมักมองข้ามบ่อยครั้งคือ “สายเบรก” หรือ “ท่ออ่อนเบรก” เสื่อมสภาพ อันเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุ “เบรกแตก” เนื่องจากเหยียบเบรกไม่อยู่ เบรคหาย
สายเบรครถยนต์คืออะไรทำหน้าที่อะไร ?
“สายเบรค” หรือ “ท่ออ่อนเบรค” คือส่วนท่อยางที่สามารถให้ตัวได้มีการเดินเชื่อมต่อออกจากบริเวณตัวถังเพื่อส่งแรงดันน้ำมันเบรคไปยังดุมล้อที่ติดตั้งคาลิเปอร์เบรค ซึ่งต้องขยับตัวได้ตามการเลี้ยวของล้อ
สายเบรคจึงสำคัญมาก โดยวัสดุที่นำมาทำส่วนท่ออ่อนเบรคผู้ผลิตรถยนต์มักใช้ท่อยางแล้วถักด้วยเส้นด้ายทับอีกชั้น แต่เมื่อใช้งานไปเป็นเวลานาน ซึ่งล้อรถต้องเลี้ยวบ่อยครั้งและไม่ได้รับการเปลี่ยนตามระยะการใช้งานที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ ท่ออ่อนเบรคอาจเกิดการบวม พอง แตก หรือเสียหายบริเวณข้อต่อ ส่งผลให้น้ำมันเบรกรั่วออกมาได้ รวมถึงอาการตันในท่ออ่อนเบรค
อาการต่าง ๆ ที่เกิดจากท่ออ่อนเบรคเริ่มมีปัญหา
1. อาการเบรคติด
ในขณะที่เหยียบเบรค น้ำมันเบรคจะถูกส่งออกมาด้วยแรงดันจากแม่ปั้มเบรคไปยังลูกสูบเบรคดันให้ฝักเบรคเปิดออก แต่ในจังหวะที่ปล่อยเบรค น้ำมันเบรคจะไม่สามารถไหลกลับได้เพราะท่ออ่อนเกิดอาการตัน หรือยังไหลกลับได้แต่ช้ามาก ทำให้เบรคติดหรือคืนตัวในตำแหน่งปกติได้ช้า
2. อาการเบรคไม่อยู่
เพราะน้ำมันเบรคไม่สามารถไหลผ่านสายเบรคที่เป็นท่ออ่อนไปยังลูกสูบเบรคได้ ทั้งนี้ อายุของท่ออ่อนเบรค ส่วนใหญ่ใช้งานได้เฉลี่ย 4-5 ปี หรือประมาณ 50,000 กิโลเมตร แต่ถ้าพบว่าท่อยางเริ่มแข็งแล้วนั่นหมายความว่ายางเริ่มหมดอายุ ควรได้รับการเปลี่ยนใหม่ทันทีอย่ารอ
ซึ่งสายเบรคช่วงท่ออ่อนที่ดีควรต้องทนต่อแรงดันน้ำมันเบรคในระบบ ทนความชื้น ความร้อน การกัดกร่อนจากสารเคมีรวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิงได้ดีและตามข้อต่อควรต้องกันสนิมได้ด้วย
3. อาการเบรคแตก
ปัญหายอดนิยมที่มักเกินขึ้นกันบ่อย เพราะเมื่อรถยนต์ถูกใช้ไปนาน ๆ โดยไม่ได้รับการดูแลรักษา ตรวจสอบสภาพสายอ่อนเบรคของล้อทั้ง 4 เมื่อหมดอายุหรือเสื่อมสภาพ ท่ออ่อนที่แข็งขาดความยืดหยุ่น อาจทนแรงดันในระบบเบรกไม่ไหว
เพราะเมื่อเหยียบเบรคอย่างรุนแรงจะเกิดแรงดันในระบบสูงมาก ท่ออ่อนเบรคมีโอกาสเสียหายเพราะทนต่อแรงดันไม่ไหวอีก อาจปริแตกหรือขาดออกเป็นสาเหตุทำให้น้ำมันเบรครั่วออกจากระบบรถจึงเบรคไม่อยู่
ดังนั้น นอกเหนือจากการตรวจเช็กผ้าเบรค น้ำมันเบรค ทั่วไปแล้ว ผู้ขับขี่ควรใส่ใจกับส่วนประกอบอื่น ๆ ของระบบเบรกทั้งหมด รวมถึงสายเบรครถยนต์ในส่วนของท่ออ่อนซึ่งมีอายุการใช้งานและต้องการการดูแลตรวจสอบหรือเปลี่ยนใหม่ตามอายุการใช้งานเช่นเดียวกับชิ้นส่วนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน