11:15, 13 พ.ค. 2562

เคล็ดลับการเปลี่ยนสายพานหน้าเครื่องด้วยตนเอง

บันทึกรายการ

สายพานหน้าเครื่องถือเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญในเครื่องยนต์ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดกำลังจากเครื่องยนต์ไปหมุนส่วนต่างๆภายในเครื่องยนต์ให้ทำงานแล้วเมื่อเสื่อมสภาพจะต้องทำการเปลี่ยนใหม่อย่างไร

ในปัจจุบันสายพานที่ถูกติดตั้งเอาไว้ภายในเครื่องยนต์มักจะถูกออกแบบให้ติดตั้งมาเพียงหนึ่งเส้นเพื่อให้ง่ายต่อการถอดประกอบหรือทำการซ่อมแซมใหม่ โดยหลักการทำงานของสายพานหน้าเครื่องนั้นทำหน้าที่ในการถ่ายทอดกำลังจากเครื่องยนต์ไปฉุดรั้งอุปกรณ์อื่นเพื่อให้ทำงานตามเปรียบเสมือนกับฟันเฟืองหมุนขับเคลื่อนส่วนต่างๆภายในรถ เช่น คอมเพรสเซอร์แอร์ ไดชาร์จ ปั๊มน้ำรวมถึงอุปกรณ์ส่วนควบอื่นๆ ในกรณีที่สายพานหน้าเครื่องมีการทำงานที่ผิดพลาดย่อมส่งผลให้ส่วนประกอบอื่นๆภายในเครื่องยนต์มีการทำงานที่ผิดปกติตามไปด้วยเพราะฉะนั้นการหมั่นสังเกตการทำงานของสายพานหน้าเครื่องจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก


เคล็ดลับการเปลี่ยนสายพานหน้าเครื่อง

อย่างไรก็ตามในอดีตมักมีการใช้งานสายพานภายในเครื่องยนต์มากกว่า 2 เส้น เพื่อใช้ฉุดลากการทำงานของส่วนประกอบอื่นๆภายในเครื่องยนต์โดยแยกส่วนออกจากกันอย่างชัดเจน ก่อนจะมีความนิยมใช้สายพานภายในเครื่องยนต์เพียง 1 เส้น มีชื่อเรียกว่า “เซอร์เพนไทน์” เมื่อมีการใช้งานสายพานหน้าเครื่องในระยะเวลาที่ยาวนานสายพานจะเริ่มมีอาการหย่อนให้เห็นซึ่งผู้ขับขี่สามารถที่จะสังเกตได้จากเสียงที่ออกมาจากภายในเครื่องยนต์ที่มีลักษณะดังออกมาตามวงรอบของเครื่องยนต์ซึ่งแปลความหมายได้ว่าสายพานในรถของท่านกำลังทำงานอย่างผิดปกติอยู่นั่นเอง

นอกจากการฟังเสียงการทำงานของสายพานที่สามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติได้แล้วการใช้สายตาตรวจสอบก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน สำหรับเทคนิคการเปลี่ยนสายพานหน้าเครื่องด้วยตนเองเริ่มต้นเพียงแค่ตรวจสอบบริเวณสายพานโดยมองหาจุดที่สายพานมีอาการแตกลายงา หรือ มีรอยขาดบริเวณขอบเป็นริ้วๆหากพบให้ทำการเปลี่ยนใหม่ แต่หากตรวจสอบดูแล้วสายพานยังคงอยู่ในสภาพที่ปกติยังใช้งานได้ดีอยู่อาจเลือกใช้วิธีการเปลี่ยนสายพานหน้าเครื่องตามระยะการใช้งานซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะถูกกำหนดเอาไว้ในระยะประมาณ 50,000 กิโลเมตร


เปลี่ยนสายพานหน้าเครื่องด้วยตนเอง

สำหรับวิธีการเปลี่ยนสายพานหน้าเครื่อง หรือ สายพานรถยนต์นั้นผู้ขับขี่สามารถที่จะทำได้ด้วยตนเองเริ่มต้นเพียงตรวจเช็คความสมบูรณ์ของสายพานว่ามีการชำรุดหรือไม่หากพบให้ทำการเปลี่ยนด้วยการถอดชิ้นส่วนที่กีดขวางการถอดสายพานออกแล้วใช้ประแจเบอร์ 17 คลายน็อต 2 ตัว ที่อยู่บริเวณด้านล่างของไดชาร์จออก ก่อนนำประแจเบอร์ 13 มาคลายน็อตตัวตั้งสายพานที่ด้านบนของไดชาร์จซึ่งสายพานจะหย่อนลงจากนั้นจึงนำสายพานเส้นใหม่เปลี่ยนเข้าไปที่พูลเลย์ด้านในก่อนไล่มาจนถึงด้านบน เมื่อเปลี่ยนเสร็จแล้วให้ใช้นิ้วกดที่สายพานหากหย่อนเกินไปให้ทำการปรับตั้งค่าใหม่อีกครั้งให้อยู่ในระดับที่ไม่ตึงและไม่หย่อนจนเกินไปเพื่อป้องกันสายพานขาดหากต้องใช้งานในระยะเวลานาน

นอกจากนี้แล้วการใช้งานรถยนต์อยู่เป็นประจำผู้ขับขี่จะต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบสายพานหน้าเครื่อง ไดชาร์จ และ อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆภายในเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการใช้งานอยู่เสมอและเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ชำรุดออกไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องยนต์ครับ

...

ดูเพิ่มเติม

มนัส ช่วยบำรุง

ในหมวดเดียวกัน