15:34, 16 ต.ค. 2561

วิธีแก้ไข หากซื้อรถใหม่ป้ายแดงแล้วเจอปัญหาซ่อมไม่หยุด

บันทึกรายการ

ความใฝ่ฝันของใครหลายๆคน หนึ่งในนั้นก็คือการซื้อรถใหม่ป้ายแดงมาใช้งาน แต่ใครจะรู้ว่ารถใหม่ป้ายแดงบางครั้งก็มีปัญหาบานตะไท ชนิดที่เรียกว่าซ่อมเกือบทุกเดือนเลยก็ว่าได้

สำหรับการซื้อรถยนต์ใหม่ป้ายแดงนั้น คงจะเป็นความฝันของใครหลายๆคนเลยก็ว่าได้ แต่บางครั้งรถมือหนึ่งก็อาจจะมีปัญหาได้ โดยเฉพาะความบกพร่องจากการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาตั้งแต่เริ่มสตาร์ทรถ ปัญหาเกียร์ เสียงดังช่วงล่าง เป็นต้น ซึ่งหากเกิดปัญหาต่างๆขึ้น หากได้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายที่พร้อมแก้ไข และรับผิดชอบก็ถือว่าเป็นความโชคดี แต่ถ้าหากเจอเหตุการณ์ที่ถูกโยนภาระว่าสินค้าที่ชำรุดนั้น เกิดจากตัวลูกค้าไม่ใช่ปัญหาจากการผลิตแต่อย่างใด ในบางกรณีหากต้องการคืนสินค้าให้กับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายนั้น บางครั้งอาจจะเจอการปฏิเสธไม่ยอมให้ทำการคืนรถ และมีการต่อรองที่จะซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุดแทน หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วผู้บริโภคเลือกที่จะยอมความและใช้รถต่อ ถือเป็นความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่ง เพราะต้องใช้รถยนต์ที่ไม่มีคุณภาพต่อไป ซึ่งปัญหารถที่มาจากการผลิตนั้น ผู้บริโภคบางรายอาจจะต้องนำรถเข้าอู่ซ่อมนับสิบครั้งเลยก็ว่าได้


ปัญหารถยนต์ที่มาจากการผลิต

แน่นอนว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ มักนำมาซึ่งอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน อาจจะนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ ยังเสียเวลาและค่าใช้จ่ายที่จะต้องรับผิดชอบด้วยตนเอง โดยเฉพาะการซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุดเสียหาย บางครั้ง การชำรุดที่เกิดขึ้นเป็นการชำรุดถาวร นั่นแสดงว่าไม่สามารถทำให้หายขาดได้ นำมาซึ่งการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายแบบไม่จบสิ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหารถที่ไม่ได้มาตรฐานจากทางโรงงานนั้น ถือว่าเป็นการทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น การเสียเปรียบด้านข้อมูลที่ไม่ได้รับสินค้าตามการโฆษณา หรืออาจจะต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด ปัญหาเหล่านี้ หากผู้บริโภคไม่ได้ทำการศึกษาข้อมูลมาอย่างถี่ถ้วนมักจะต้องตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบอย่างชัดเจน หากจะขอผู้ผลิตหรือจำหน่ายเปลี่ยนรถ หรือคืนรถอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ยากตามไปด้วย


รถยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐานนำมาซึ่งความเสียหายต่อผู้บริโภค

ดังนั้น หากผู้บริโภคเจอปัญหาต่างๆ จากรถยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน และการปฏิเสธความรับผิดชอบจากผู้ผลิตหรือจำหน่ายแล้ว สามารถแก้ไขได้เพื่อปกป้องสิทธิที่พึงมีของตน ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำ ดังต่อไปนี้

1. ติดต่อกับผู้ผลิตหรือจำหน่ายโดยตรง อาจจะโดยการทำจดหมายแบบไปรษณีย์ตอบรับก็ได้ เพื่อให้หาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ในเบื้องต้น อาจจะให้ซ่อมแซมในส่วนที่มีปัญหาเสียก่อน แต่หากยังไม่หายเป็นปกติ ทางบริษัทจะต้องทำการซื้อรถคืนหรือเปลี่ยนคันใหม่ให้ อย่างใดอย่างหนึ่ง

2. นัดคุยเพื่อไกล่เกลี่ยและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้ข้อตกลงเป็นไปตามที่เจรจากันระหว่างผู้เสียหายกับคู่กรณี

3. ในกรณีที่คู่กรณียังให้ข้อสรุปที่ดีที่สุดไม่ได้หรือปฏิเสธการรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ให้ผู้เสียหายเตรียมทำการฟ้องศาลและดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อให้ศาลเป็นผู้ตัดสินกับกรณีดังกล่าว เพราะในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ในมาตราที่ 472 ที่ได้บัญญัติเอาไว้ว่า “กรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นเกิดการชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด” ซึ่งจากมาตราดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่าหากเกิดปัญหาของรถยนต์ขึ้น ผู้เสียหายย่อมเรียกร้องสิทธิที่พึงมีของตนได้


การดำเนินคดีตามสิทธิที่พึงมีของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีทางกฎหมายในกรณีที่ผู้ผลิตหรือจำหน่ายปัดความรับผิดชอบนั้น ผู้เสียหายจะต้องปรึกษากับทนายที่ได้รับใบอนุญาตจากสภาทนายความ เพื่อทำเรื่องส่งฟ้องต่อศาลในคดีแพ่ง โดยไม่ต้องเข้าแจ้งความก่อนแต่อย่างใด โดยการตัดสินคดีจะตกเป็นหน้าที่ของศาลว่า ผู้เสียหายจะได้รับค่าสินไหมชดเชยหรือไม่ ซึ่งคดีจะเป็นไปในทิศทางใด ท้ายที่สุดแล้วจะต้องขึ้นอยู่กับพยานและหลักฐานของทั้งสองฝ่าย เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาคดีต่อไปนั่นเอง

สรุป

สำหรับการดำเนินการทางกฎหมายในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ผลิตหรือจำหน่ายนั้น สามารถกระทำได้โดยทันที แต่จะต้องมีความพร้อมด้วยพยานและหลักฐาน เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า รถที่เกิดปัญหานั้นมาจากการผลิตของโรงงานโดยตรง ไม่ใช่จากการใช้งานแต่อย่างใด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินการทางกฎหมายนี้เอง ที่ทำให้หลายคนกังวลและยังไม่กล้าที่จะดำเนินการหากรถยนต์เกิดปัญหา เพราะยังมีความรู้และความเข้าใจไม่มากพอ จึงทำให้หลายๆคนต้องเสียสิทธิของผู้บริโภคที่พึงมี

อ่านเพิ่มเติม : 

BearsSmiley

ในหมวดเดียวกัน