ระบบไฟรถยนต์นอกจากจะมีหน้าที่ส่องสว่างแล้ว ไฟแต่ละดวงยังมีหน้าที่สื่อสารไปยังผู้ใช้รถ ใช้ถนนคนอื่น ๆ ให้รับทราบเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งไฟแต่ละดวง แต่ละสีนั้น ใช้งานอย่างไร ตอนไหนบ้าง มาดูกัน
ไฟหน้ารถ (Head Light)
ไฟหน้ารถนับเป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของไฟรถยนต์ บางครั้งเรียกไฟใหญ่เพื่อใช้ส่องสว่างในการเดินทาง แรกเริ่มไฟรถยนต์ในอดีตเป็นโคมตะเกียงก๊าซ แต่ปัจจุบันมีมากมายหลายชนิด โดยแบ่งเป็นส่วน หลอดไฟและตัวโคม (จานฉาย)
โดยในส่วนของหลอดไฟ ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์นิยมใช้ทั้งหลอดฮาโลเจน แอลอีดี และเลเซอร์ (ในรถยนต์ราคาแพงจัด) ขณะที่ตัวโคม (จานฉาย) จะเป็นมัลติรีเฟล็กเตอร์หรือเลนส์โปรเจกเตอร์ก็แล้วแต่ผู้ออกแบบ ซึ่งหากชำรุดเสียหายควรเปลี่ยนให้ตรงกับสเปกเดิม เพราะถูกคำนวณโดยผู้ผลิตมาแล้วว่าให้ความสว่างเหมาะสมเพียงพอแต่จะเลือกใช้ยี่ห้อไหน ราคาเท่าไรก็ตามสะดวก
ไฟหรี่ (Parking Light)
ไฟหรี่คือไฟที่เอาไว้บอกตำแหน่งของตัวรถ (ในภาษาอังกฤษเรียก Parking Light) แต่บางประเทศ (ก่อนจะเกิดไฟ DRL) กำหนดให้ผู้ใช้ต้องเปิดไฟหรี่ขณะขับรถแม้ในตอนกลางวันเพราะด้วยสภาพอากาศขมุกขมัว สำหรับประเทศไทยก่อนจะมีไฟ DRL หรืไฟ Signature แพร่หลาย มักใช้ไฟหรี่ในการขับขี่ช่วงแสงน้อย ซึ่งความจริงควรเปิดไฟใหญ่ไปเลย ไฟหรี่ให้ใช้ในขณะจอดเมื่อแสงน้อยหรือไม่มีแสงอย่างตอนกลางคืน
ไฟสัญลักษณ์ (Signature Light)
ไฟสัญลักษณ์หรือไฟ Signature แรกเริ่มเกิดจากผู้ผลิตรถสมรรถนะสูงและมักใช้ความเร็วบนออโต้บานห์ จึงติดตั้งไฟ Signature เพื่อระบุตัวตนให้ผู้ใช้ถนนได้รับทราบว่า (เป็นรถแรงนะ ไม่ธรรมดานะ หลบได้หลบนะ) จนแพร่หลายในรถทั่วไปและบางครั้งทำหน้าที่เป็นไฟวิ่งกลางวันร่วมกันหรือแยกออกมาต่างหากก็แล้วแต่การออกแบบ ซึ่งไฟ Signature นี้จะทำงานเองอัตโนมัติเมื่อสตาร์ตเครื่องยนต์
ดังนั้น ไฟ Signature ไม่ใช่ไฟใหญ่ที่ใช้ส่องสว่างในการขับขี่ อย่าคิดว่าเท่ ว่ามี ขับขี่เวลากลางคืนโดยไม่เปิดไฟใหญ่ โดยหวังจะโชว์ไฟ Signature มันไม่เท่และตลาดล่างทางด้านการศึกษามาก
ไฟตัดหมอก (Fog Light)
ปัจจุบันไฟตัดหมอกอาจถูกติดตั้งในรถยนต์บางรุ่นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่ส่วนมากจะให้เฉพาะด้านหน้าและเป็นเพียงสปอตไลท์ที่ไม่ได้ใช้ตัดหมอก (ถ้าตัดหมอกได้จริง ๆ ต้องสีเหลือง เพราะเมื่อสาดไฟเข้าหมอกแล้วไฟจะไม่สะท้อนหมอกเป็นสีขาวฟุ้ง)
ส่วนไฟตัดหมอกหลังจะเป็นสีแดง ให้ความสว่างมาก จึงควรเปิดเฉพาะตอนทัศนวิสัยแย่จริง มีหมอกหรือฝนตกหนักเท่านั้น เพราะหากเปิดในช่วงเวลาปกติแสงจะรบกวนรถคันหลังมาก ซึ่งคนขับบางคนตีความไปว่าเปิดแล้วเท่ ประมาณว่า...รถกูมี (แล้วนะ) ใครเห็นก็อยากสรรเสริญไปถึงบุพการีทีเดียว
ไฟฉุกเฉิน (Hazard Light)
ไฟฉุกเฉิน หรือไฟ Hazard บ้างก็เรียกไฟผ่าหมาก จริง ๆ ชื่อก็ไม่ต้องอธิบายแล้วคือใช้เปิดเฉพาะกรณีฉุกเฉิน เช่น รถเสียข้างทาง หรือจอดข้างทาง เพื่อให้สัญญาณรถคันหลังรู้ว่ากำลังจอดอยู่
ส่วนใครที่เปิดไฟฉุกเฉินขณะข้ามสี่แยกคืออย่าหาทำ เปิดตอนขับขี่ขณะฝนตกหนักเพื่อให้คันอื่นเห็นตามความเชื่อเดิมก็ไม่ควร เพราะจะทำให้ผู้ขับขี่คันอื่นเกิดความเข้าใจผิด แยกไม่ได้ว่าคันไหนวิ่ง คันไหนจอดฉุกเฉินจริง ๆ
ไฟเลี้ยว (Turning Signal Light)
ไฟเลี้ยวหรือไฟสัญญาณเพื่อสื่อสารให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคันอื่นได้ทราบว่าจะมีการเปลี่ยนทิศทางหรือเลี้ยวไปทางใด โดยไม่ต้องเดาใจกัน ซึ่งปัจจุบันผู้ขับขี่หลายคันละเลย มันไม่กินไฟ ไม่เปลืองน้ำมัน ช่วยกันเปิดหน่อยเถอะ จะได้ไม่ก่อความเดือนร้อนและเป็นอันตรายกับเพื่อนร่วมทาง
แต่อย่างไรก็ตามการเปิดไฟเลี้ยวแล้วนั้นควรกระทำล่วงหน้าสักหน่อย ไม่ใช่เปิดปุ๊บเลี้ยวปั๊บถือว่าเปิดแล้วอันนี้ก็แย่มาก ผู้ใช้ถนนอื่นก็ไม่ทันตั้งตัว อันตรายอีกเหมือนกัน แล้วก็ไม่ต้องไปเปลี่ยนเป็นหลอดไอติมกันด้วย...แสบตา lower market มากและไม่ได้ดูดีเอาเสียเลย
ไฟถอยหลัง
มีไว้เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ทราบว่ากำลังจะถอยหลังแล้วนะ
ดังนั้น ถ้าใครยังใช้ไฟรถยนต์แบบผิด ๆ เพราะคิดว่าเท่อยู่ล่ะก็...คุณคิดผิด ผู้ใช้รถใช้ถนนเกินล้านไม่ได้คิดแบบนั้น ส่วนใครที่ไม่รู้หรือเชื่อตามกันมาแบบไม่ถูกต้องควรเปลี่ยนเสียเลย
อ่านเพิ่มเติม