10:18, 9 ก.ค. 2561

เคล็ด(ไม่)ลับ ที่ควรรู้ก่อนคิด(จะ)รีไฟแนนซ์รถยนต์

บันทึกรายการ

หลายคนมีความคิดที่ว่า อยากจะนำรถไปเข้า “ไฟแนนซ์” และ “รีไฟแนนซ์” เพื่อทำสินเชื่อทางการเงินให้กับตนเอง แล้วทำอย่างไรหล่ะเพื่อที่จะให้การ "รีไฟแนนซ์" นั้นไม่เสียเปล่า ??

ตามที่ได้มีการอธิบายการ “รีไฟแนนซ์รถยนต์” ไปในเบื้องต้นแล้ว หลายคนก็คงจะเริ่มเข้าใจว่าในปัจจุบันสถาบันการเงินและสถาบันรถได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างสินเชื่อต่างๆมากมาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของตนเอง และก็ถือเป็นการแข่งขันทางธุรกิจไปในตัว

ซึ่งหลายคนเองเมื่อได้เห็นโปรโมชั่นจากทางสถาบันการเงินต่างๆ ที่ออกมาให้ไปกู้สินเชื่อใหม่ หรือที่เรียกง่ายๆว่า “รีไฟแนนซ์” ก็อาจจะเกิดความสนใจในโปรโมชั่นนั้นอยู่ไม่น้อย แต่ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าถึงแม้จะมีข้อดึงดูดใจมากเพียงใด ก็ต้องมีข้อที่ควรระวังอยู่เช่นเดียวกัน เพราะนั่นอาจจะหมายความว่า “คุณอาจจะมีหนี้เพิ่มขึ้น” โดยที่ “เงินต้นยังคงเดิม” ก็ได้

อย่างไรก็ตาม เราจะมาแนะนำเคล็ด(ไม่)ลับ ที่ควรรู้ก่อน(จะ)รีไฟแนนซ์ให้ได้ทราบกัน เพื่อที่จะทำให้คนรักรถรู้เท่าทันข้อจำกัดต่างๆที่มักจะมาพร้อมกับการรีไฟแนนซ์


เตรียมตัวให้พร้อมกับค่าใช้จ่ายจากการรีไฟแนนซ์

รายจ่ายที่จะมาพร้อมกับการรีไฟแนนซ์รถยนต์

          1. ค่าใช้จ่ายให้กับสถาบันการเงิน ทั้งสถาบันการเงินใหม่และเก่า โดยเฉพาะในส่วนของสถาบันการเงินใหม่นั้น จะมาพร้อมกับการจ่ายเบี้ยปรับที่ผู้กู้ไถ่ถอดก่อนกำหนด เนื่องจากต้องการปิดสินเชื่อเดิมแล้วมาเปิดสินเชื่อใหม่ โดยธนาคารส่วนมาก จะคิดค่าปรับในกรณีที่มีการไถ่ถอนก่อนที่มีการกำหนดระยะเวลาเอาไว้ ซึ่งมักจะต้องเสียค่าปรับเฉลี่ย 1-5% ของวงเงินที่ขอกู้ หรือยอดเงินต้นคงเหลือ แต่ในบางธนาคารก็ไม่ได้มีค่าปรับในส่วนนี้เช่นเดียวกัน

          2. ค่าจัดการสินเชื่อตามสัญญาใหม่ 0-1% ของวงเงินกู้ใหม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของผู้กู้และสถาบันการเงินใหม่ที่จะดำเนินการรีไฟแนนซ์นั่นเอง ว่าในส่วนของค่าจัดการนี้มีจำแนกแยกย่อยอะไรบ้าง

          3. ค่าประเมินราคาหลักประกัน โดยมักจะอยู่ที่ 0.25% ของราคาประเมิน โดยในส่วนนี้จะต้องชำระให้กับสถาบันการเงินใหม่ ถ้าหากในข้อตกลงที่ระบุในสัญญาไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องจ่ายให้กับธนาคารเดิม ผู้ขอกู้ก็อาจจะไม่ต้องชำระค่ารีไฟแนนซ์ให้กับธนาคารเดิมด้วยก็ได้

          4. ค่าอากรแสตมป์ ส่วนมากแล้วจะคิดเพียง 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่ โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะต้องชำระให้กับสถาบันการเงินใหม่เท่านั้น ขึ้นอยู่กับการตกลงกับทางสถาบันการเงินนั่นเอง

ความคุ้มค่าในการรีไฟแนนซ์

แน่นอนว่าทุกครั้งที่จะรีไฟแนนซ์ ความคุ้มค่าต้องมาก่อนเสมอ บนโลกนี้คงไม่มีใครที่จะไม่คำนึงผลประโยชน์ของตนเองอย่างแน่นอน ดังนั้นหากจะรีไฟแนนซ์แล้วจะต้องคำนึงก่อนเสมอว่า หากดำเนินการแล้วจะได้รับผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน มีความคุ้มค่ากับการดำเนินการหรือไม่ เพราะหากไม่ไตร่ตรองให้ดีก่อนก็อาจจะทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ และยังจะต้องเสียเงินด้วย

โดยหลักๆแล้ว การคำนึงถึงความคุ้มค่านั้น มักจะโฟกัสไปที่เรื่องของดอกเบี้ย เพราะถือเป็นหัวใจหลักของการขอสินเชื่อรถยนต์ โดยจะต้องคำนึงถึงส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ลดลง มีความคุ้มกับค่าใช้จ่ายส่วนอื่นที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ หากพิจารณาการขอสินเชื่อครั้งใหม่อาจทำให้ผู้ซื้อเช่าพบกับเงื่อนไขของสถาบันการเงิน อย่างเช่น การที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเท่าเดิมต่อ ถึงแม้จะกู้สินเชื่อในสถาบันการเงินใหม่ก็ตาม ซึ่งอาจจะทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยซ้ำซ้อน ทั้งดอกเบี้ยของเงินกู้ก้อนเดิม และเงินกู้ก้อนใหม่นั่นเอง

ที่สำคัญคือ ก่อนจะปิดบัญชีสินเชื่อเดิมเพื่อนำไปขอสินเชื่อใหม่ จะต้องคำนวณก่อนเสมอว่าดอกเบี้ยคงเหลือตามสัญญากู้เดิม เมื่อนำมาหักส่วนต่าง กับดอกเบี้ยใหม่ คุ้มค่าหรือไม่ และจะต้องคำนึงเสมอว่าถึงแม้ระยะเวลาผ่อนจะยาวนานขึ้นนั้น ตนเองพร้อมที่จะจัดการกับหนี้ที่กำลังจะเกิดมากน้อยแค่ไหน มีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ เพื่อที่จะทำให้ตนเองไม่เสียเครดิตจากการผ่อนชำระจนเกิดปัญหาแบบโดมิโนตามมาในภายหลัง


รู้เขารู้เรา ศึกษาข้อมูลก่อนเสมอ

รู้เขารู้เรา ศึกษาผลประโยชน์ ข้อดีข้อเสียของแต่ละสถาบันก่อนเสมอ

ในประเด็นนี้สำหรับคำว่า “รู้เขารู้เรา” ก็คือ ไม่ว่าจะทำการรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินเดิม หรือสถาบันการเงินใหม่ ผู้เช่าซื้อสามารถต่อรองอัตราดอกเบี้ยพิเศษและข้อเสนอพิเศษต่างๆ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการรีไฟแนนซ์ครั้งนี้ได้

ซึ่งในส่วนของข้อเสนอและข้อต่อรองต่างๆ ผู้ขอกู้จะต้องศึกษารายละเอียดเบื้องต้นของการรีไฟแนนซ์รถยนต์ในแต่ละสถาบันว่ามีสิ่งที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง แล้วนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกันว่าหากจะทำการรีไฟแนนซ์แล้ว สถาบันการเงินใดที่จะเอื้อผลประโยชน์ให้เราสำหรับการขอรีไฟแนนซ์รถยนต์ในครั้งนี้ เมื่อพิจารณาจนได้ข้อสรุปแล้วว่าสถาบันการเงินใดเอื้อประโยชน์ให้ตรงตามความต้องการของตนเอง ก็จะทำให้การต่อรองเพื่อขออัตราดอกเบี้ยพิเศษและข้อเสนอพิเศษนั้นเป็นไปได้โดยง่ายมากขึ้น เพราะคนที่ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดนั้นมักจะได้เปรียบกว่าคนที่ไม่ได้ศึกษาอยู่แล้ว อย่างน้อยจะได้ไม่เสียเวลาโดยใช่เหตุกับการดำเนินการในครั้งนี้

ที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ การมีเทคนิคการต่อรองกับสถาบันการเงินเดิม ด้วยเจตจำนงที่ว่าตนเองมีความประสงค์จะย้ายไปรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินแห่งใหม่ ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า วิธีนี้เองที่จะทำให้สถาบันการเงินเดิมงัดกลวิธีการดึงลูกค้าให้อยู่กับตัว โดยการเสนอการลดอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้กู้ วิธีการนี้เองที่อาจจะทำให้ผู้กู้ไม่จำเป็นต้องไปดำเนินการรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินใหม่ แถมได้ดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ

สรุป

อย่างไรก็ตาม การรีไฟแนนซ์รถยนต์ไม่ว่าผู้กู้จะมีเจตจำนงในลักษณะใดก็แล้วแต่ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการรู้จักพิจารณาความคุ้มค่าต่อการรีไฟแนนซ์รถยนต์ของตนเอง โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่จะได้รับ ทั้งยังต้องรู้จักใส่ใจในรายละเอียดที่ระบุในสัญญาอย่างรอบคอบ ในส่วนของเงื่อนไขและแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อศึกษาโอกาสและช่องทางในการต่อรองกับสถาบันทางการเงินที่ดำเนินการอยู่ เพราะไม่อย่างนั้นนอกจากจะทำให้มีหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้นแล้วยังอาจจะทำให้ต้องมารับภาระที่ตนเองอาจจะไม่ได้มีความตั้งใจให้เกิดขึ้นก็ได้

อ่านเพิ่มเติม :

BearsSmiley

ในหมวดเดียวกัน