วันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เผยว่า ด้วยปัจจุบันแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะนำยานพาหนะมาใช้ในประเทศไทยมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น กรมการขนส่งทางบกจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตใช้รถ โดยจะทำการตรวจสอบรถและผู้ขับรถก่อนนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นำรถเข้ามาใช้
ทั้งนี้ ได้จัดทำเว็บไซต์ Foreign Vehicle Permit System หรือ FVP (fvp.dlt.go.th) เพื่อยกระดับการให้บริการ และอำนวยความสะดวกในการยื่นขออนุญาตแบบออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
สำหรับรถที่สามารถนำข้ามพรมแดนเข้ามาใช้ท่องเที่ยวในประเทศไทยได้นั้น กรมการขนส่งจะให้อนุญาตเฉพาะรถยนต์นั่ง ไม่เกิน 9 ที่นั่ง (รวมคนขับ) แต่ "ไม่รวม" รถบ้าน, รถยนต์บรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม และรถจักรยานยนต์
ทั้งนี้ การยื่นขออนุญาตผ่านระบบ FVP จะต้องดำเนินการผ่าน "ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว" เท่านั้น โดยสามารถขออนุญาตใช้รถได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน รวมแล้วต้องไม่เกิน 60 วัน ในรอบปีปฏิทิน
โดยผู้ขออนุญาตใช้รถ ต้องชำระค่าธรรมเนียมการขออนุญาตเพื่อการท่องเที่ยวคันละ 500 บาท, ค่าคำขอ 5 บาท และค่าเครื่องหมายแสดงการใช้รถแผ่นละ 500 บาท สำหรับรถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุก ส่วนรถจักรยานยนต์ 200 บาท ซึ่งต้องติดแผ่นป้ายแสดงการใช้รถในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจน เพื่อสะดวกในการตรวจสอบ
นอกจากนี้ กรมการขนส่งฯ ยังได้พัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน “DLT FVP” เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยในการเดินทางในประเทศไทย โดยมีแผนที่สารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อแสดงสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล, สถานีตำรวจ, แหล่งท่องเที่ยว, ห้างสรรพสินค้า, ปั๊มน้ำมัน, ร้านอาหาร และสถานที่ราชการ แผนที่ขอบเขตพื้นที่ที่อนุญาตให้ใช้รถ และหมายเลขโทรศัพท์ที่จำเป็นสำหรับการแจ้งเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ
ส่วนหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการยื่นขออนุญาตนำรถเข้ามาใช้ในประเทศไทยนั้น มีดังนี้
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องกำชับนักท่องเที่ยวที่ได้รับอนุญาตให้นำรถเข้ามาใช้ในประเทศไทย ให้ปฏิบัติตามกฎจราจรและกฎหมายอื่น ๆ ของประเทศไทยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ไม่มีใบขับขี่ที่จะต้องนำผู้ขับรถมาขอรับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวตั้งแต่วันแรกที่นำรถเข้ามาใช้เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งต้องผ่านการอบรมเกี่ยวกับกฎจราจรและมารยาทในการขับรถในประเทศไทยด้วย หากฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตามกฎหมายไทยได้ทันที และจะถูกบันทึกประวัติความผิดไว้ประกอบการพิจารณาหากมีการขอนำรถเข้ามาอีกในครั้งต่อไป