14:26, 27 ก.ย. 2562

19 ธ.ค. 62 กรมการขนส่งฯ จะเริ่มเรียกเก็บค่าปรับใบสั่งค้างชำระได้ทันทีเมื่อต่อภาษีรถ

บันทึกรายการ

สายดองใบสั่งไม่มีทางรอด ตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถที่ไม่ชำระค่าปรับใบสั่งตามกำหนด กรมการขนส่งทางบกสามารถแจ้งและรับชำระค่าปรับแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เลยทันที


ตัวแทนจาก กรมการขนส่งทางบก และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงนามร่วมกันในการเชื่อมโยงข้อมูล

ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป กรมการขนส่งทางบกสามารถแจ้งและรับชำระค่าปรับใบสั่ง "ที่ค้างชำระ" แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตง.) ได้ทันทีเมื่อนำรถยนต์ไปต่อภาษีประจำปี  แต่หากเจ้าของรถหรือผู้มาติดต่อยังไม่พร้อมชำระค่าปรับใบสั่ง ทางกรมการขนส่งฯ จะออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีชั่วคราว และให้เจ้าของรถไปชำระค่าปรับใบสั่งผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สถานีตำรวจ, ทาง application NEXT ของธนาคารกรุงไทย ภายใน 30 วัน จากนั้นต้องนำหลักฐานมาแสดงให้กับกรมการขนส่งฯ เพื่อรับป้ายวงกลมตัวจริง โดยจะมีผลย้อนหลัง 1 ปี สำหรับใบสั่งที่ค้างชำระ หรือตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2561

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 141/1 แก้ไขเพิ่มเติมโดย คำสั่งหัวหน้า  คสช.ที่  14/2560 ได้มีกำหนดให้นายทะเบียนกรมการขนส่งทางบก "มีอำนาจรับชำระค่าปรับที่ค้างชำระตามใบสั่งแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" โดยมีผลบังคับใช้เมื่อ 16 มีนาคม 2560 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นรูปธรรมได้ เนื่องจากระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ของทั้งสองหน่วยงาน ("สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" และ "กรมการขนส่งทางบก") ยังไม่เชื่อมโยงกัน

ต่อมา พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ม.4/1 แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ก.ย. 62 กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบก เชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกัน  ซึ่งขณะนี้ทั้งสองหน่วยงานได้ทำเชื่อมโยงข้อมูลกันเรียบร้อยแล้ว และร่วมลงนามทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์  ให้ได้ทันตามกำหนด 90 วัน หลังจากพระราชบัญญัติจราจรทางบกฉบับใหม่ถูกบังคับใช้ไปเป็นที่เรียบร้อย  


ตัวแทนสองหน่วยงานโชว์หนังสือลงนามร่วมกัน 


ผู้ช่วย ผบ.ตร ให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน 

สำหรับประชาชนที่ไม่มั่นใจหรือไม่แน่ใจว่าตนเองค้างชำระค่าปรับใบสั่งจราจรหรือไม่ สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ตามช่องทางออนไลน์ ทั้งทางเว็บไซต์ https://ptm.police.go.th/eTicket/#/ หรือ e-Ticket เพื่อให้ประชาชนศึกษาข้อมูล และตรวจสอบใบสั่งจราจร จำนวนค่าปรับ และช่องทางการชำระ ค่าปรับ นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น Web service และ Application

อย่างไรก็ตามหลังจากกฎหมายจราจรฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ หากผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถเห็นว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในใบสั่ง สามารถทำหนังสือโต้แย้งข้อกล่าวหานั้นไปที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่ออกใบสั่ง "ภายใน 15 วัน" นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบให้ประชาชนผู้รับใบสั่งสามารถโต้แย้งข้อกล่าวหาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อีกช่องทางหนึ่ง

ดูเพิ่มเติม

  • สมัครหรือยัง ! ใบขับขี่ออนไลน์หรือใบขับขี่ดิจิทัล เริ่มใช้แทนใบขับขี่ตัวจริงได้ 20 กันยายน 2562
  • นับถอยหลัง! ประกาศราชกิจจาฯ อนุมัติใช้ใบขับขี่ดิจิตอลแทนของจริงได้หลัง 19 กย.นี้
  • Palist

    ในหมวดเดียวกัน