17:21, 19 พ.ย. 2561

อยากทราบวิธีการดูแลรักษาแหนบรถยนต์ค่ะ

บันทึกรายการ

แหนบรถยนต์ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญในรถกระบะที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถที่จะบรรทุกสัมภาระได้มากยิ่งขึ้นและไม่เกิดอาการสั่นสะเทือนต่อตัวรถ วันนี้ข่าวรถนำวิธีการดูแลแหนบรถยนต์มาฝากกันครับ

สวัสดีค่ะ อยากทราบวิธีการดูแลรักษาแหนบรถยนต์ค่ะ พอดีรถที่ใช้งานอยู่เป็นรถกระบะและต้องใช้บรรทุกพืชผักไปส่งที่ตลาดอยู่เสมอค่ะ คราวนี้เพิ่งไปทำการเปลี่ยนเสริมแหนบมาใหม่เพื่อให้ได้น้ำหนักบรรทุกที่มากขึ้นเลยอยากขอคำแนะนำในการดูและรักษาและยืดอายุการใช้งานแหนบรถยนต์ให้ยาวนานยิ่งขึ้นค่ะ ขอบคุณสำหรับคำตอบจากพวกพี่ๆล่วงหน้าด้วยนะค่ะ 

กาญจนา หาญบุญช่วย (nanno_kanjana@hotmail.com)

เจษฎา โชคอำนวย


แหนบรถยนต์

สวัสดีครับคุณกาญจนา ก่อนอื่นต้องเรียนให้ทราบว่าแหนบเปรียบเสมือนเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับรองรับน้ำหนักการบรรทุกในรถยนต์ประเภทรถปิกอัพที่มีให้อย่างหลากหลายรูปแบบ มักถูกนำมาติดตั้งเอาไว้ในบริเวณใต้ท้องรถด้านหลัง โดยแท้ที่จริงแล้วแหนบ หรือ Leaf Spring คือ สปริงประเภทหนึ่งถือเป็นส่วนประกอบของรถในช่วงล่างรับภาระการบรรทุกจากโครงรถแล้วถ่ายเทน้ำหนักลงสู่เพลาล้อ ทำหน้าที่ในการลดการสั่นสะเทือนให้กับโครงรถภายใต้การรับและเก็บสะสมพลังงานจากการสั่นสะเทือนเมื่อรถวิ่งแล้วคายออกในเวลาต่อมา ถือเป็นการหน่วงแรงสั่นสะเทือนส่งผลให้รถมีอาการส่ายตัวน้อยและผู้โดยสารไม่ได้รับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการบรรทุกสัมภาระที่มีความหนัก

ทั้งนี้ลักษณะของแหนบโดยทั่วไปแล้วจะประกอบไปด้วยแผ่นเหล็ก (แหนบ) หลายแผ่นเป็นแนวยาววางซ้อนกันไปตามขนาดของแหนบโดยมีสลักแกนหลักสอดผ่านรูกลางแหนบมีชื่อเรียกว่า สะดือ (Center Hole) เพื่อยึดแผ่นแหนบให้รวมกันจนเป็นแผ่นแหนบตับทับซ้อนกัน โดยที่แผ่นแหนบแต่ละแผ่นจะมีความโค้งที่แตกต่างกันเพื่อให้เกิดค่า NIP ตามที่ได้มีการกำหนดเอาไว้ เมื่อได้รับการประกอบเข้ากันแล้วแผ่นแหนบจะมีความโค้งอยู่ในระนาบเดียวกันในลักษณะกึ่งวงรี สำหรับวัตถุดิบหลักในการผลิตแหนบ ได้แก่ เหล็กสปริง (Spring Steel) โดยอาศัยการเผาเหล็กให้ร้อนด้วยอุณหภูมิสูงแล้วนำไปชุบให้เย็นตัวภายใต้กระบวนการชุบแข็งเพื่อให้เหล็กไม่แข็งเปราะและเป็นสปริงสามารถรับน้ำหนักในการบรรทุกสัมภาระได้


รถเสริมแหนบ

ส่วนการติดตั้งแหนบนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ 1.แหนบที่ติดตั้งเอาไว้เหนือเพลา 2.แหนบที่ถูกติดตั้งไว้ใต้เพลา ซึ่งแต่ละค่ายรถยนต์ได้มีการออกแบบติดตั้งแหนบให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานอยู่แล้ว โดยแหนบชั้นที่ 1 จะมีลักษณะม้วนเป็นวงกลมที่ปลายแผ่นแหนบทั้งสองข้างเรียกว่าหูแหนบยึดติดกับตัวรถด้วยโตงเตง และ มีเต้าหูแหนบยึดติดกับแหนบให้คงที่ ทั้งนี้โตงเตงที่ใช้ยึดติดกับตัวรถสามารถที่จะแกว่งไปมาได้เพื่อให้แหนบเหยียดตัวในขณะที่ทำการรับน้ำหนักและบริเวณกลางแหนบจะยึดติดกับเพลารถด้วยสาแหรก

สำหรับการดูแลรักษาแหนบรถยนต์เพื่อยืดอายุการใช้งานผู้ขับขี่ไม่ควรบรรทุกหนักจนเกินน้ำหนักมาตรฐาน พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีสภาพขรุขระเป็นหลุมบ่อเพราะอาจทำให้แหนบหัก หรือ บิ่นได้ นอกจากนี้แล้วผู้ขับขี่ควรตรวจสอบสะดือ หรือ สาแหรกที่ต้องมีการขันให้แน่นอยู่ทุกครั้ง ส่วนในรายของผู้ขับขี่ที่ต้องการเพิ่มน้ำหนักการบรรทุกควรติดตั้งแหนบที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับมาตรฐาน

ผู้ใช้รถกระบะ หรือ รถที่มีการติดตั้งแหนบเพื่อเสริมการบรรทุกสัมภาระหนักควรหมั่นตรวจสอบแหนบให้มีสภาพที่พร้อมใช้งานไม่ชำรุดอยู่เสมอครับ

ในหมวดเดียวกัน