สวัสดีครับพี่ๆผมมีเรื่องจะสอบถามถึงวิธีการทำงานของระบบดรัมเบรกหน่อยครับ พอดีรถที่ใช้อยู่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานพอสมควร โดยเฉพาะระบบเบรกที่ติดตั้งมาด้วยเป็นระบบดรัมเบรกแต่ผมมีความรู้ความเข้าใจในระบบเบรกชนิดนี้ไม่มากนักเลยอยากได้ความรู้เพิ่มเติม พร้อมข้อดีของระบบเบรกชนิดนี้ ขอบคุณสำหรับคำตอบล่วงหน้าด้วยนะครับ
วัชรินทร์ แก้วดำเนิน (kaew_watcharin@hotmail.com)
เจษฎา โชคอำนวย
ดรัมเบรก
สวัสดีครับคุณวัชรินทร์ ก่อนอื่นต้องเรียนให้ทราบว่าระบบเบรกที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นมีอยู่หลากหลายรูปแบบด้วยกันทั้งดิสก์เบรก ดรัมเบรก อีกทั้งยังมีการออกแบบให้ระบบเบรกมีส่วนช่วยในการทรงตัวของรถโดยเฉพาะระบบเบรกแบบ DTC (Dynamic Traction Control) โดยระบบดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะใช้งานกับเส้นทางที่มีความเปียกลื่นสูงซึ่งจะเพิ่มแรงยึดเกาะพื้นผิวถนนให้มีมากยิ่งขึ้น เสริมด้วยระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวแบบ DSC (Dynamic Stability Control) ที่ถือเป็นระบบเบรกที่มีการประสานงานร่วมกับการทำงานของเครื่องยนต์เพื่อให้สามารถควบคุมรถให้เข้าโค้ง หรือ ในสภาพถนนที่มีความเปียกลื่นได้โดยง่าย
แต่ในยุค 20-30 ปีมานี้ ระบบเบรกที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานอย่างดรัมเบรกที่มักจะได้รับการติดตั้งมาในรถรุ่นเก่าก็ยังได้รับความสนใจอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าในล้อหน้าของรถยนต์หลายรุ่นอาจมีการนำดิสก์เบรกเข้ามาติดตั้งแทนที่แต่สำหรับในล้อหลังแล้วก็ต้องยอมรับว่าดรัมเบรกยังคงมีความสำคัญอยู่จึงสามารถที่จะครองตำแหน่งไว้ได้อย่างเหนียวแน่นและยังคงได้รับความไว้วางใจให้ใช้งานอยู่
จานดรัมเบรก
ดรัมเบรกจะมีส่วนประกอบสำคัญ คือ ผ้าเบรกที่มีลักษณะโค้งซึ่งถูกติดตั้งเอาไว้จำนวน 2 อัน มีชื่อเรียกว่าฝักนำ และ ฝักตาม หรือ สามารถเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า ก้ามปูเบรก , ฝักเบรก โดยดรัมเบรกจะเริ่มทำงานเมื่อมีการเหยียบเบรกเพื่อชะลอความเร็วรถ ผ้าเบรกในลักษณะโค้งทั้งสองอันนี้จะถูกปั๊มเบรกส่งแรงดันให้ไปยึดติดเข้ากับด้านในของฝาครอบเบรก (ดรัม) ซึ่งฝาครอบนี้จะยึดติดอยู่กับตัวรถอีกทีหนึ่งส่งผลให้ล้อเกิดความฝืดและสามารถที่จะหยุดชะลอรถได้โดยง่าย
โดยดรัมเบรกสามารถที่จะแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ดรัมเบรกแบบก้ามปูนำ 2 ก้าม และ ดรัมเบรกแบบก้ามปูนำและก้ามปูตาม ทั้งนี้ดรัมเบรกมีข้อดีอยู่หลายประการที่เหนือกว่าดิสก์เบรกโดยเฉพาะในส่วนของการเพิ่มแรงจับระหว่างประกบฝาครอบเบรกได้อย่างอัตโนมัติ ส่งผลช่วยให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องออกแรงในการเหยียบแป้นเบรกมากนัก อีกทั้งระบบดรัมเบรกยังไม่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกับหม้อลมเบรกเหมือนดั่งเช่นในรถรุ่นเก่าที่มีการใช้ดรัมเบรกในทั้ง 4 ล้อ และ ไม่มีการติดตั้งหม้อลมเบรกแต่อย่างใด
สำหรับผู้ใช้รถควรหมั่นตรวจสอบระบบเบรกให้มีความพร้อมในการใช้งานอยู่เสมอและควรเปลี่ยนผ้าเบรกเมื่อครบกำหนดอายุการใช้งานเพื่อความปลอดภัยสูงสุดครับ