พ.ร.บ.รถยนต์ สามารถเบิกถ้าประสบอุบัติเหตุได้หรือเปล่าคะ แล้วมีวงเงินเท่าไหร่ แล้วมีเงื่อนไขยังไงคะ จำเป็นต้องทำทุกคันใช่รึเปล่าคะ ??
นงนุช ทดเจริญ (mammamnaja@gmail.com)
นพดล นฤวัตปกรณ์
วันนี้มาทราบเงื่อนไขตลอดจนข้อกำหนดของ พ.ร.บ.รถยนต์ที่คุณนงนุชได้สอบถามมา แถมเรื่องประกันไปด้วยเลยนะครับ เพราะต้องควักเงินจ่ายเมื่อต่อภาษีป้ายทะเบียน ลุงขอเล่าเลยละกันนะครับ พ.ร.บ.ที่กล่าวถึงเนี่ย เป็นการทำประกันภัยภาคบังคับประเภทที่สาม นั่นก็คือ การทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ รถทุกคันนั้นต้องทำทุกปีเมื่อไปต่อภาษี ป้ายทะเบียน เมื่อต้องทำต้องจ่ายกันทุกปี แล้วมันได้ประโยชน์อย่างไรเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ลองมาทำความรู้จักกับสิทธิประโยชน์ที่แท้จริงของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกันดีกว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาถึงขั้นมีการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต คุณสามารถเบิกหรือเคลมอะไรได้บ้าง
เกิดอุบัติเหตุ
อย่างไรก็ตามเราต้องทำประกันภัยเอาไว้เสมอเนื่องจากการบังคับใช้ของกฎหมายจราจรทางบก ส่วนประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ก็ดีสุดเหมาะกับรถราคาแพง พวกที่ชอบชนบ่อยๆ ขับรถเร็วเป็นประจำ เดินทางไกลทุกวัน ประเภทที่ 2 รองลงมาหน่อย และประเภทที่ 3 ซึ่งจะจ่ายให้กับผู้เสียหายที่คุณไปชนเขาแต่คุณต้องซ่อมรถเอง
ไม่ว่าจะขับรถยนต์ประเภทไหน แบบใด รถยนต์ทุกคันต้องทำประกันภัย รวมถึงการไม่ประมาทและขับให้ถูกกฎหมายจราจร อุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพื่อลดความเสี่ยง ควรทำประกันภัยไว้เสมอ ต่ออายุประกันก่อนหมดอายุ และศึกษารายละเอียดของประกันภัยในแต่ละประเภทให้ดี
สำหรับการทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 ให้ความคุ้มครองเฉพาะความรับผิดเฉพาะของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น โดยลักษณะการใช้รถยนต์จะจำกัดเฉพาะใช้เป็นรถส่วนบุคคล ไม่ใช่รับจ้างหรือให้เช่า โดยบริษัทจะให้ความคุ้มครองดังนี้
1. คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิตร่างกายบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกันภัยด้วย
2. คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
3. ความคุ้มครองเพิ่มเติมตามเอกสารแนบท้าย การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันภัยค่ารักษาพยาบาลและการประกันผู้ขับขี่
บาดเจ็บ เสียชีวิต 50,000 บาท/คน 200,000 บาท/คน 5,000,000 บาท/ครั้ง
ความรับผิดต่อชีวิตร่างกายบุคคลภายนอก (คู่กรณี) 1,000,000 บาท/คน 10,000,000 บาท/ครั้ง
เอกสารที่จะต้องใช้เวลาการเคลม พ.ร.บ.มีดังนี้
กรณีบาดเจ็บ
1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
2. ใบเสร็จรับเงินต้นฉบับ
กรณีเบิกค่าชดเชย หรือผู้ป่วยใน
1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
2. ใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน
กรณีทุพพลภาพ
1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
2. ใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองความพิการ
3. สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากการประสบภัยจากรถ
กรณีเสียชีวิต
1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
2. ใบมรณบัตร
3. สำเนาบัตรประชาชนทายาท สำเนาทะเบียนบ้าน
4. สำเนาบันทึกประจำวันในคดีของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นถึงแก่ความตาย เพราะการประสบภัยจากร
รถที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องทำ พ.ร.บ.
1. รถองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
2. รถของสำนักพระราชวังที่จดทะเบียน และมีเครื่องหมายที่เลขาธิการพระราชวังกำหนด
3. รถของกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยราชการต่างๆ (ที่เรียกว่ารถราชการ) รถยนต์ทหาร แต่ไม่รวมรถของรัฐวิสาหกิจ
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ถูกตราขึ้นเพื่อให้ทุกคนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตอันเนื่องมาจากรถ ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร่งด่วน ไม่ว่าผู้ประสบภัยนั้นจะเป็นใคร อยู่ในรถหรือนอกรถ เป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือเจ้าของรถ โดยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาล หรือค่าปลงศพแล้วแต่กรณี อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้ให้ความคุ้มครองเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย และอนามัยเท่านั้น ไม่รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน เช่น ค่าซ่อมรถแต่อย่างใด
ใครบ้างที่ต้องทำประกันภัย
1. เจ้าของรถ หรือผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถ
2. ผู้เช่าซื้อรถ หรือผู้มีสิทธิครอบครองตามสัญญาเช่าซื้อ
3. เจ้าของรถที่นำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาใช้ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว
การฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัยตามกฎหมายมีโทษ
ตัวอย่าง บทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เช่น
1. เจ้าของรถหรือผู้เช่าซื้อรถผู้ใด ไม่จัดให้มีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.นี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2. ผู้ใดนำรถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.นี้มาใช้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท