10:02, 19 มิ.ย. 2561

ผมให้เพื่อนยืมรถยนต์ แล้วเขาขับชนคันอื่น ประกันจะจ่ายให้ไหม?

บันทึกรายการ

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ถ้ารถมีประกันจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แต่ถ้าเจ้าของรถไม่ได้เป็นผู้ขับชนก็คงวุ่นวายหน่อย และมักเกิดคำถามว่าประกันรถจะจ่ายไหม แล้วถ้าไม่จ่ายใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ผมให้เพื่อนยืมรถยนต์ แล้วเขาขับชนคันอื่น ประกันจะจ่ายให้ไหม? แล้วค่าสินไหมใครต้องรับผิดชอบ?

ทวี สุบรรณ์ (tweet.02man@gmai.com)

นพดล นฤวัตปกรณ์


ประกันภัยรถยนต์

ถาม: รถทำประกันชั้น 3 ไว้ แล้วให้เพื่อนยืมรถแต่ไปขับชนคันอื่น ประกันจะจ่ายให้ไหม?

ตอบ คุณทวี: ปกติแล้ว ประกันภัยรถยนต์แบบสมัครใจนั้นจะให้ความคุ้มครองมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับประเภทของประกันชนิดนั้น ซึ่งมีเบี้ยประกันที่ค่อนข้างแตกต่างกัน หากเบี้ยประกันภัยสูงความคุ้มครองก็คลอบคลุมกว่า ส่วนเบี้ยประกันภัยแบบกลางๆก็เคลมได้บางกรณีตามที่ระบุไว้ตอนทำสัญญาเท่านั้น ซึ่งควรอ่านให้ละเอียดก่อนตกลงทำสัญญา

ก่อนอื่นต้องขอแบ่งประกันภัยรถยนต์แบบสมัครใจออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ประกันภัยแบบระบุชื่อ

ประกันภัยในลักษณะนี้จะระบุชื่อผู้ให้ความคุ้มครองเอาไว้ โดยส่วนมากมักไม่เกิน 2 ชื่อ อาจเป็นสามี-ภรรยา แม่-ลูก ซึ่งถ้าผู้ขับขี่มีชื่อตามที่ระบุ ประกันจะรับผิดชอบในเรื่องค่าเสียหายให้ทั้งค่าซ่อมแซมและค่าทำขวัญที่ทางคู่กรณีเรียกเก็บเป็นพิเศษ แต่ถ้าหากเป็นเพื่อนหรือบุคคลอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ตอนทำสัญญา ทางฝ่ายประกันภัยรถยนต์จะไม่จ่ายให้ ทั้งนี้ผู้ที่ขับรถชนต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น โดยคู่กรณีสามารถยื่นฟ้องผู้ขับได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา อีกทั้งเจ้าของรถยังสามารถฟ้องเรียกความรับผิดชอบจากผู้ที่นำรถไปชนได้อีกด้วย

  1. ประกันภัยแบบไม่ระบุชื่อ

ถ้าคุณทำประกันภัยแบบไม่ระบุชื่อผู้คุ้มครองจะดำเนินการง่ายกว่ามาก เพราะสามารถเคลมกับทางประกันได้เลย ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ขับขี่ให้เกิดอุบัติเหตุก็ตาม โดยทางประกันจะรับผิดชอบทั้งค่าซ่อมแซมและค่าทำขวัญที่ทางคู่กรณีเรียกร้องต่างหาก แต่ถ้าค่าทำขวัญเกินวงเงินประกันและมีค่าใช้จ่ายส่วนต่างเกิดขึ้น เจ้าของรถต้องรับผิดชอบในส่วนนี้เองซึ่งสามารถเรียกเก็บกับผู้ที่ขับรถเราไปชนทีหลังได้


กรณีคดีอาญาประเภทกฏหมายอาชญากรรม ทางประกันภัยรถยนต์จะไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายใดใดให้

ทั้งนี้ กรณีเป็นคดีอาญา เช่น นำรถไปชนแล้วทำให้เกิดความเสียหาย ทุพลภาพถาวร เสียชีวิตทางฝ่ายบริษัทประกันจะรับผิดชอบให้ หรือขับขี่ผิดกฏหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพและอนามัยของบุคคลจากการขับขี่ ทางประกันก็ให้เคลมเช่นกัน แต่ถ้าเป็นกรณีคดีอาญาประเภทกฏหมายอาชญากรรม เช่น จงใจให้มีผู้เสียชีวิตในการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ ทางประกันภัยรถยนต์จะไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายใดใดให้ แม้ว่าเจ้าของรถจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ตาม


อุบัติเหตุไม่คาดฝันสามารถเกิดได้ทุกเมื่อ

ถาม: แล้วค่าสินไหมใครต้องรับผิดชอบ ?

ตอบ: สำหรับค่าสินไหมที่ทางคู่กรณีเรียกเพิ่มเติม หากในสัญญาประกันระบุไว้ ทางฝ่ายประกันจะต้องรับผิดชอบ แต่ถ้ามียอดส่วนต่างนอกเหนือจากวงเงินประกัน เจ้าของรถต้องเป็นผู้จ่ายส่วนต่างนี้ ซึ่งสามารถเรียกเก็บจากเพื่อนได้ครับ

จะเห็นได้ว่า อุบัติเหตุไม่คาดฝันสามารถเกิดได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าทางบริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบให้หรือไม่ก็ตาม ฝ่ายเจ้าของรถก็ต้องเดือดร้อนอยู่ดี ทั้งเสียเงิน เสียเวลานำรถไปซ่อมแทนที่จะได้ใช้งานตามปกติ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะซ่อมเสร็จ อีกทั้งรถที่ผ่านการซ่อมแซมมาแล้วเราย่อมมีความรู้สึกไม่เหมือนเดิม หงุดหงิดใจโดยที่เราไม่ได้เป็นผู้กระทำ โวยวายกับใครก็ไม่ได้ ดังนั้นพึงควรระวังให้ดีหากต้องให้ใครยืมรถ ไม่ว่าจะเป็นพี่ ป้า น้า อา ลูกพี่ลูกน้อง โดยเฉพาะญาติๆที่มักจะเกิดความเกรงใจกัน ไม่กล้าเรียกร้องค่าเสียหายและความรับผิดชอบแบบเป็นลายลักษณ์อักษรตามกฏหมาย ทำให้ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ ต้องควักกระเป๋าจ่ายเองแถมยังผิดใจกันอีกต่างหาก ส่วนเพื่อนสนิทมิตรสหายทั้งหลายก็มีโอกาสสูงที่จะหายหน้า ตามตัวไม่ได้เมื่อต้องเรียกเก็บค่ารับผิดชอบทีหลัง ทางที่ดีควรปฏิเสธอย่างนุ่มนวล หาข้ออ้างที่ไม่ผิดใจกัน เมื่อปฏิเสธสักสองสามครั้งจะไม่มีใครมายืมรถเอง แต่ถ้าหากเป็นเรื่องเร่งด่วนจริงๆอาจหาวิธีอื่นหรือขับไปส่งจะดีกว่า เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

ในหมวดเดียวกัน