น้ำทำให้อีแวพอเรเตอร์ผุกร่อนจริงหรือเปล่า จำเป็นต้องเป่าให้อีแวพอเรเตอร์แห้งไหมครับ แล้วอะไรทำให้อีแวพอเรเตอร์ผุครับ
ทวีศักดิ์ แก้วเจริญ (thaweesak@gmail.com)
เจษฎา โชคอำนวย
ระบบการทำงานของแอร์
น้ำ ทำให้รังผึ้งของอีแวพอเรเตอร์ (Evaporator) ผุกร่อนจริงหรือเปล่า ?
ตอบ: ไม่จริงครับ โดยระบบแล้ว เมื่อเปิดการใช้แอร์รถยนต์ ไอน้ำในอากาศที่ไหลผ่านจะเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว ซึ่งก็คือ “น้ำ” ที่เราเห็นกัน หมายความว่าตัวอีแวพอเรเตอร์มันเปียกอยู่ตลอดเวลานั่นเอง ไม่มีผลเสียอะไรเป็นปกติของระบบอยู่แล้ว
แล้วจำเป็นต้องเป่าให้อีแวพอเรเตอร์แห้งไหมครับ ?
ไม่จำเป็นครับ กรณีนี้เคยพบการแชร์ต่อกันมาเหมือนกันว่า “ให้ปิดแอร์ เปิดเฉพาะพัดลมก่อนถึงที่หมายประมาณ 3 นาที เพื่อเป่าให้อีแวพอเรเตอร์แห้ง ลดการผุกร่อน ” ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่มีประโยชน์ใดใด นอกจากทำให้เราร้อนเหงื่อแฉะเท่านั้น และผู้ผลิตรถยนต์คงไม่สร้างความลำบากให้กับผู้ขับขี่โดยการต้องปิดแอร์ทนร้อนเพื่อไม่ให้อีแวพอเรเตอร์ผุหรอกครับ
โดยเมื่อเราปิดสวิทช์ A/C ให้คอมเพรสเซอร์แอร์หยุดทำงาน การทำความเย็นที่อีแวพอเรเตอร์ไม่ได้หยุดตามไปด้วยทันที เพราะความดันของน้ำยาแอร์ที่อยู่ในสภาพของเหลวซึ่งไหลมาจากแผงคอยล์ร้อนคอนเดนเซอร์(Condenser)ด้านหน้ายังสูงอยู่ และจะถูกพ่นจากเอ็กซ์แพนชันวาล์ว(Expansion Valve)เข้าไปในรังผึ้งของอีแวพอเรเตอร์ต่อไป ซึ่งจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ ส่วนไปน้ำในอากาศที่ไหลผ่านตัวรังผึ้งแอร์ก็จะกลายเป็นน้ำ เกาะตัวอยู่ที่รังผึ้ง โดยเป็นเพียงน้ำกลั่นเท่านั้น ไม่ให้โทษอะไรแม้ว่ารังผึ้งจะเปียกก็ตาม ฉนั้นจึงไม่จำเป็นต้องปิดแอร์เพื่อเป่าให้รังผึ้งแอร์แห้ง
เศษผม ขนสัตว์ เส้นผ้า ฝุ่นผง อุดตันอีแวพอเรเตอร์
สาเหตุที่ทำให้อีแวพอเรเตอร์ผุคืออะไรบ้างครับ ?
สาเหตุที่อีแวพอเรเตอร์ผุนั้น หลักๆเกิดความสกปรกในห้องโดยสาร ไม่ว่าจะเป็น เศษผม ขนสัตว์ เส้นผ้าแม้กระทั่งฝุ่นผง ที่ลอยอยู่ในห้องโดยสาร เมื่อถูกพัดลมแอร์ดูดเข้าไปและพ่นใส่รังผึ้งแอร์ จะเกาะติดสะสมไปเรื่อยๆเพราะมีขนาดใหญ่ ลอดผ่านไม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไปก็จะมีปริมาณมากขึ้นอุดตัน ทำให้แอร์ไม่เย็น และที่ร้ายแรงคือ เศษผมและขนสัตว์ ต่างก็เป็นสารอินทรีย์ มีการย่อยสลายและกลายเป็นกรดกัดกร่อนตัวอีแวพอเรเตอร์ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อีแวพอเรเตอร์ผุ ไม่ใช่น้ำอย่างที่หลายคนเข้าใจ
ส่วนฝุ่นละออง เมื่อถูกพัดลมแอร์ดูดเข้าไป แล้วพ่นใส่รังผึ้งแอร์โดยตรง ถ้าเป็นฝุ่นผงเล็กๆก็จะลอดผ่านเข้าไปในระบบและพ่นออกมาทางช่องลม วนเวียนในห้องโดยสารต่อไป เมื่อฝุ่นที่ลอยฟุ้งนี้เจอกับครีบรังผึ้งที่เปียกอยู่ ก็จะผสมกันกับน้ำและหยดลงมาที่ถาดรองซึ่งมีท่อระบายอยู่ใต้ท้องรถ หรือที่เราเรียกกันว่า “น้ำแอร์” นั่นเอง ถ้ามีฝุ่นจำนวนมากจะตกตะกอนในถาดรองและเกิดการอุดตัน ทำให้มีน้ำหยดในรถ สร้างความเสียหายได้เช่นกัน