สวัสดีครับกำลังสงสัยว่าปั๊มติ๊กที่ได้ยินว่ามีการติดตั้งอยู่ในรถยนต์นั้นทำหน้าที่อย่างไรบ้างครับ ผมรู้แค่เพียงมีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับระบบเชื้อเพลิงภายในรถ แล้วถ้าหากปั๊มติ๊กเสียหรือกำลังที่จะเสียสามารถที่จะสังเกตอาการ หรือ มีอาการเริ่มต้นอย่างไรบ้างครับ รบกวนพวกพี่ๆสมาชิกท่านใดที่พอมีประสบการณ์ หรือ มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับปั๊มติ๊กช่วยแชร์กันหน่อยนะครับ ขอบคุณครับ
อนุพงศ์ สงวนธรรมรักษ์ (nu_anupong@hotmail.com)
เจษฎา โชคอำนวย
ปั๊มติ๊กเสื่อมรู้ได้อย่างไร
สวัสดีครับคุณอนุพงศ์
ก่อนอื่นต้องเรียนให้ทราบว่าปั๊มติ๊กที่ได้ยินกันอยู่ในปัจจุบันหากเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเครื่องยนต์ หรือ เป็นนักแต่งรถแล้วละก็ต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเครื่องยนต์แล้วถือว่าเป็นชื่อที่ดูไม่คุ้นชินมากนักแต่แท้ที่จริงแล้วปั๊มติ๊กเป็นชื่อเรียกของปั๊มที่ใช้ในการดูดน้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์เบนซิน ทำหน้าที่ในการดูดน้ำมันจากถังน้ำมันเข้าไปสู่ระบบเครื่องยนต์
โดยชื่อของมันนั้นมีชื่อเรียกตามลักษณะการทำงานที่ใช้หลักการตัดต่อกระแสไฟฟ้าที่ป้อนให้กับขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้าส่งผลให้แผ่นไดอะแฟรมมีการขยับตัวเข้า-ออก เมื่อมีการประกอบเข้ากับชุดลิ้นเปิด-ปิด แผ่นไดอะแฟรมจะเกิดแรงดูดรวมถึงแรงดันในขณะเดียวกันส่งผลให้สามารถดูดน้ำมันเชื้อเพลิงจากถังเชื้อเพลิงส่งไปยังระบบเชื้อเพลิงได้ในระหว่างที่ปั๊มกำลังทำงานอยู่จะมีการส่งเสียงติ๊กๆออกมาโดยตลอดจนเป็นที่มาของการเรียกชื่อว่า “ปั๊มติ๊ก”
ในปัจจุบันปั๊มติ๊กนั้นพบเห็นได้ยากแล้วในรถที่ใช้เชื้อเพลิงเบนซินเนื่องจากมีการติดตั้งปั๊มเชื้อเพลิงที่มีการขับด้วยเฟืองเข้ามารวมถึงมอเตอร์ไฟฟ้าที่ได้รับการประกอบเข้ามาเป็นชุดเดียวกันกับชุดลูกลอยวัดระดับน้ำมันแล้วนำมาติดตั้งเอาไว้ในถังน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับสาเหตุหลักๆที่สามารถทำให้ปั๊มติ๊กเสียหายได้นั้นประกอบไปด้วยระดับน้ำมันในถังเชื้อเพลิงอาจจะมีน้อยจนเกินไปจนทำให้ปั๊มติ๊กทำงานหนักและระบายความร้อนได้ไม่ดีจนส่งผลให้มอเตอร์ได้รับความเสียหาย รวมไปถึงในกรณีที่ผู้ขับขี่มีการเติมน้ำมันที่ไม่ได้คุณภาพย่อมส่งผลโดยตรงจนทำให้ปั๊มติ๊กพังได้ หรือ มีอายุการใช้งานที่สั้นลงไปได้อีกเช่นกัน
ปั๊มติ๊ก
สำหรับวิธีการสังเกตอาการปั๊มติ๊กเสื่อมสภาพนั้นผู้ขับขี่สามารถรู้ได้จากในขณะที่กำลังขับรถอยู่ หรือ ทำการเร่งเครื่องยนต์รถจะมีอาการกระตุก สะดุด หากร้ายแรงมากเครื่องยนต์อาจจะดับไปได้เช่นกัน เมื่อดับไปแล้วจะสตาร์ทใหม่ก็สตาร์ทติดยากมากหากเครื่องยนต์กลับมาติดก็จะติดเพียงไม่นานก็ดับอีก แต่ในบางกรณีการที่รถสตาร์ทติดยากก็ไม่ได้มีสาเหตุมาจากปั๊มติ๊กทำงานผิดปกติได้เช่นกัน เนื่องจากตัวปั๊มอาจไม่ได้เสียแต่เป็นตัวซีล หรือ โอริงเสียทำให้น้ำมันไหลย้อนลงถังจนเครื่องยนต์สตาร์ทติดยากต้องสตาร์ทหลายครั้งจึงจะติด บางครั้งช่างมีการประกอบโอริงไม่เข้าที่ทำให้เมื่อจอดรถทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานน้ำมันจะไหลย้อนกลับลงไปในถังเชื้อเพลิงและสตาร์ทติดยาก
ส่วนในเครื่องยนต์แบบหัวฉีดอาจใช้วิธีการสังเกตได้ยากต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการเช็คแรงดันซึ่งตามปกติแล้วเครื่องยนต์หัวฉีดโดยทั่วไปจะต้องมีแรงดันอยู่ในระดับประมาณ 2.5 Bar จึงจะสตาร์ทติด หรือ ให้ผู้ขับขี่ใช้วิธีการหาจุดขั้วบริการซึ่งจะมีบอกอยู่ในสมุดคู่มือของรถรุ่นนั้นใช้วิธีการจั๊มไปที่ขั้วบริการ Fuel Pump Test หากปั๊มไม่เสียก็จะได้ยินเสียงปั๊มทำงานที่ท้ายรถออกมา
สำหรับผู้ขับขี่ที่ต้องการตรวจเช็คความผิดปกติของปั๊มติ๊กสามารถนำวิธีการข้างต้นไปปรับใช้ได้ หากพบปัญหารถสตาร์ทไม่ติดบ่อยครั้งก็ควรนำเข้าไปเช็คยังศูนย์บริการต่อไปครับ