สวัสดีค่ะ คุณอาของดิฉันเดินทางไปที่จังหวัดแพร่ช่วงปีใหม่โดนคนเมาแล้วขับรถมาชนจนรถเกิดความเสียหาย ตำรวจรายที่รับเรื่องบอกว่าคดีอาญาจบไปแล้ว คือ คดีเมาแล้วขับ ได้ดำเนินการส่งฟ้องเปรียบเทียบปรับไปแล้ว ส่วนรถคันที่เสียหายนั้นเป็นคดีแพ่งต้องไปฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่กรณีเอาเอง (รถทั้งคู่ไม่มีประกันค่ะ) ขอความกรุณาผู้รู้ช่วยให้คำตอบหน่อยค่ะ ตอนนี้เดือดร้อนมาก
หฤทัย เรืองจันทร์ (che_thai_126@yahoo.com)
นพดล นฤวัตปกรณ์
เมาแล้วขับมีความผิดคดีอาญา
ตอบคำถามคุณหฤทัย: เรียนคุณหฤทัย สำหรับความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นความผิดทางอาญาครับแต่เมื่อมีการฟ้องร้องดำเนินคดีพร้อมกับการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว คดีที่มีความเกี่ยวข้องกับฐานความผิดดังกล่าวย่อมเป็นอันระงับไป แต่ในกรณีของคุณอาของคุณหฤทัยที่เป็นผู้ประสบเหตุได้รับความเสียหายซึ่งทรัพย์สิน (พาหนะส่วนตัว) เกิดขึ้นด้วย ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวสามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้ฝ่ายที่กระทำความผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความผิดฐานละเมิดอันเป็นสิทธิเรียกร้องทางความแพ่งได้ครับ
ทั้งนี้ขอแนะนำข้อกฎหมายในกรณีที่เป็นคดีรถชนกันบนท้องถนนธรรมดาร้อยเวรที่รับแจ้งความมักจะไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีตกลงชดใช้ค่าเสียหาย แต่คดีนี้คู่กรณีของเจ้าของคำถามเป็นฝ่ายเมาแล้วขับรถซึ่งไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่เกิดความเสียหายแก่รถเท่านั้นทำให้เข้าเงื่อนไขที่ร้อยเวรเจ้าของคดีต้องนำตัวผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับ (กรณีที่รับสารภาพ) ส่งฟ้องศาลภายใน 48 ชั่วโมง เมื่อศาลมีคำพิพากษาจะทำให้คดีความทางอาญาย่อมเสร็จสิ้นไป เหลือแต่ค่าเสียหายอันเกิดจากกรณีรถชนซึ่งถือเป็นคดีทางแพ่งเจ้าพนักงานตำรวจไม่มีอำนาจดำเนินการทางคดีแพ่งได้จึงไม่สามารถดำเนินการเรียกคู่กรณีมาไกล่เกลี่ยเรื่องค่าเสียหายได้อีก
เมาแล้วขับถูกจับติดคุก
นอกจากนี้แล้วหากคดีข้างต้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เมาแล้วขับคดีจะมีอัตราโทษที่หนักกว่ากรณีที่เมาแล้วขับรถชนทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งคดีประเภทนี้จะอยู่ในอำนาจของศาลประจำจังหวัดนั้นๆ ในกรณีนี้ร้อยเวรเจ้าของคดีสามารถร้องขอฝากขังจำเลยได้ 4 ฝาก (48 วัน) หากผู้ต้องหามีการประกันตัวในชั้นสอบสวนสามารถช่วยเหลือเรียกคู่กรณีมาไกล่เกลี่ยชดใช้ค่าเสียหายให้กับคู่กรณีอีกฝ่ายได้ เนื่องจากการชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนต่างๆย่อมส่งผลถึงการพิจารณาคดีของศาลด้วย
สำหรับผู้ที่ประสบเหตุเช่นเดียวกับคุณอาของคุณหฤทัยสามารถนำแนวทางข้างต้นไปเป็นความรู้ประกอบการตัดสินใจเรียกร้องสิทธิค่าเสียหายเพิ่มเติมในกรณีดังกล่าวได้