สวัสดีค่ะพอดีต้องการขายรถยนต์สักคันโดยผู้ที่จะซื้อต่อจากเราอยู่ต่างจังหวัดแล้วทั้งสองฝ่ายไม่สะดวกไปทำเรื่องโอนด้วยตนเองอยากทราบว่าถ้าจะต้องทำเรื่องโอนลอยรถต้องทำอย่างไรบ้างค่ะ ใช้เอกสารอะไรบ้าง แล้วต้องเซ็นตรงไหนบ้างค่ะ ส่วนผู้ที่ซื้อจะต้องทำอย่างไรบ้างค่ะ ขอบคุณสำหรับคำตอบล่วงหน้าด้วยนะค่ะ
ดาริกา อยู่คงทรัพย์ (darika_melody@hotmail.com)
นพดล นฤวัตปกรณ์
โอนลอยดีจริงหรือไม่ ใบโอนลอย
เรียนคุณดาริกา สำหรับการโอนลอยนั้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การโอนลอยคืออะไร การโอนลอยนั้นเปรียบเสมือนการที่เจ้าของรถได้ขายรถของตนแล้ว พร้อมทั้งทำการลงนามในเอกสารการโอนรถและใบมอบอำนาจให้ผู้ซื้อ โดยมิได้มีการดำเนินการทางทะเบียน หรือ เปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือครองกรรมสิทธิ์รถที่สำนักงานขนส่งประจำจังหวัด แต่ใช้วิธีการเซ็นชื่อบนเอกสาร โดยเอกสารที่ใช้สำหรับการโอนลอยประกอบไปด้วยใบคู่มือจดทะเบียน (เล่มรถ) ซึ่งเล่มรถคือเอกสารประจำรถแต่ละคันที่ได้ระบุรายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับตัวรถ เช่น ปีที่ผลิต รหัสสี รหัสเครื่องยนต์ เลขรหัสตัวถัง รวมถึงชื่อผู้ครอบครอง และ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ซึ่งเจ้าของรถจะต้องเซ็นชื่อกำกับตรงช่องผู้ถือกรรมสิทธิ์หากไม่มีเล่มดังกล่าวจะไม่สามารถโอนลอยได้
ใบคู่มือจดทะเบียน
เอกสารชิ้นต่อมา คือ แบบคำขอโอนและรับโอนถือเป็นเอกสารที่ใช้สำหรับการโอนรถ โดยจะต้องกรอกรายละเอียดต่างๆทั้งในส่วนของผู้ขายรถ (ผู้โอน) รวมถึงผู้ซื้อรถ (ผู้รับโอน) ทั้งนี้ในกรณีที่เป็นการโอนลอยให้เจ้าของรถผู้ถือกรรมสิทธิ์เซ็นชื่อในช่องผู้โอนซึ่งเป็นลายเซ็นเดียวกันกับในสมุดคู่มือประจำรถ พร้อมทั้งนำเอกสารที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งเข้ามาประกอบในขั้นตอนนี้ด้วย ได้แก่ หนังสือมอบอำนาจซึ่งใช้เป็นใบรับมอบอำนาจให้ผู้อื่นสามารถทำนิติกรรมแทนได้ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในกรณีที่ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ไม่สามารถไปดำเนินการได้ด้วยตนเอง สำหรับการโอนลอยเจ้าของรถจะต้องเซ็นชื่อกำกับในช่องผู้มอบอำนาจ
หนังสือรับมอบอำนาจ
นอกจากเอกสารในข้างต้นแล้วยังมีเอกสารอีก 2 รายการที่สำคัญเช่นกันได้แก่ สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของรถซึ่งชื่อ-นามสกุลต้องตรงกันกับในสมุดคู่มือประจำรถ หากมีการเปลี่ยนชื่อ หรือ นามสกุล ต้องมีเอกสารแนบเพื่อยืนยันการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลด้วย ซึ่งเอกสารชิ้นดังกล่าวนี้เจ้าของรถจะต้องเซ็นชื่อพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ส่วนเอกสารชิ้นท้ายสุดนั้น คือ สำเนาทะเบียนบ้านซึ่งต้องตรงกับที่อยู่ปัจจุบันของเจ้าของรถพร้อมทั้งลงลายมือชื่อกำกับสำเนาถูกต้องเป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการโอนลอย
ทั้งนี้การโอนลอยแม้ว่าจะสะดวกไม่ต้องมีพิธีการอะไรมากนักแต่ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการที่ผู้รับโอนอาจนำรถคันดังกล่าวไปก่อเหตุอาชญากรรมต่างๆซึ่งเจ้าของรถผู้โอนกรรมสิทธิ์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแทนเนื่องจากไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์เปลี่ยนชื่อผู้ถือครองในสมุดคู่มือประจำรถทางที่ดีผู้ใช้รถควรพากันไปโอนรถ ณ สำนักงานขนส่งประจำจังหวัดซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงในประเด็นดังกล่าวและสบายใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายอีกด้วย