16:08, 1 ส.ค. 2561

4 ข้อที่ต้องปฏิบัติเมื่อขับรถผ่านน้ำท่วม

บันทึกรายการ

สวัสดีคับ ผมอยากสอบถามเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติเมื่อขับรถผ่านบริเวณที่เกิดน้ำท่วมขัง ต้องทำอย่างไรบ้างครับ ?

วศิน ชูบารมี (vasin2536@yhaoo.com)

นพดล นฤวัตปกรณ์

ตอบคำถามคุณวศิน ชูบารมีครับ

4 ข้อที่ต้องปฏิบัติเมื่อขับรถผ่านน้ำท่วม

ช่วงนี้หลายคนทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด คงต้องเผชิญสภาวะปัญหาน้ำท่วมขังบนท้องถนน ทำให้ขับรถสัญจรไปมาได้อย่างลำบาก แถมยังเสี่ยงทำให้เกิดความเสียหายต่อรถยนต์ที่เรารักได้ด้วย การขับรถลุยน้ำท่วมนั้น ใช่ว่าจะขับเหมือนกับช่วงที่น้ำแห้งปกติได้ เพราะการขับผ่านน้ำท่วมขัง อาจส่งผลเริ่มตั้งแต่ป้ายทะเบียนหลุดหาย ไปจนถึงเกิดความเสียหายกับชิ้นส่วนภายนอกตัวรถและห้องเครื่อง และรุนแรงที่สุดอาจทำให้เครื่องยนต์พังได้ในพริบตาเดียว


เลือกช่องทางเดินรถที่มีน้ำท่วมขังต่ำที่สุด

1. เลือกช่องทางเดินรถที่มีน้ำท่วมขังต่ำที่สุด

หากสามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีน้ำท่วมขังได้ ก็แนะนำให้เลี่ยงไปเส้นทางอื่นจะดีกว่า แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ให้เลือกช่องจราจรที่มีน้ำท่วมขังในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นการลดโอกาสที่จะทำให้เกิดความเสียหายกับตัวรถและเครื่องยนต์ หากรถหยุดนิ่งเนื่องจากสภาพจราจรติดขัด ให้ทำใจเย็นๆเข้าไว้ ไม่ต้องเปลี่ยนไปยังเลนที่มีน้ำท่วมขังสูงกว่า ตราบใดที่เครื่องยนต์ยังคงทำงานอยู่ น้ำจะไม่มีโอกาสเข้าทางท่อไอเสียเครื่องยนต์อย่างแน่นอน


ใช้ความเร็วต่ำที่สุดขณะลุยน้ำ

2. ใช้ความเร็วต่ำที่สุดขณะลุยน้ำ

การขับรถลุยน้ำให้ใช้ความเร็วต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการใช้ความเร็วสูงเกินไป จะทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลหลั่งเข้ามาในห้องเครื่องยนต์อย่างรวดเร็ว จนเป็นเหตุให้ท่วมถึงระดับหม้อกรองอากาศ และถูกดูดเข้าไปยังห้องเผาไหม้ จนเป็นสาเหตุให้เครื่องยนต์น็อคเนื่องจากก้านสูบคดหรือหักได้


ห้ามเร่งเครื่องยนต์

3. ห้ามเร่งเครื่องยนต์

หลายคนเข้าใจผิดว่าการขับรถลุยน้ำท่วมต้องเร่งเครื่องยนต์ให้รอบขึ้นสูงเพื่อป้องกันรถดับ แต่ความคิดนี้ผิดมหันต์! เพราะการเร่งเครื่องยนต์ขึ้นสูงนอกจากจะไม่มีประโยชน์ใดๆแล้ว ยังทำให้เครื่องยนต์มีแรงดูดอากาศเข้าไปยังห้องเผาไหม้มากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงที่น้ำจะถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์มากขึ้นด้วย


ปิดแอร์ทันทีเมื่อระดับน้ำขึ้นสูง

4. ปิดแอร์ทันทีเมื่อระดับน้ำขึ้นสูง

ขณะขับรถลุยน้ำ หากพบว่าระดับน้ำเริ่มขึ้นสูง ให้รีบปิดแอร์ในทันทีเพื่อตัดการทำงานของพัดลมแอร์ เนื่องจากใบพัดอาจหมุนกระแทกเข้ากับน้ำด้วยความรุนแรงจนเป็นสาเหตุให้แตกหรือหักได้ ให้สังเกตว่าหากระดับน้ำเริ่มแตะใต้ท้องรถเมื่อไหร่ ให้รีบปิดแอร์ในทันที แต่หากเริ่มปิดตั้งแต่เริ่มลุยน้ำได้ก็จะดีมาก

ในหมวดเดียวกัน