สุนัข หรือน้องหมาเป็นอีกหนึ่งสัตว์เลี้ยงยอดนิยมของมนุษย์ เพราะด้วยความชาญฉลาดและความซื่อสัตย์จึงทำให้ใครหลายคนต่างหลงใหลไปพร้อมกับตกหลุมรักได้แบบไม่รู้ตัว สำหรับผู้ที่เลี้ยงสุนัขก็คงจะมีความรู้สึกที่มองเขาเป็นเหมือนคนคนหนึ่งภายในครอบครัวที่อยากจะพาไปด้วยในทุกที่ ซึ่งการพาน้องหมานั่งรถนาน ๆ ในบางครั้งก็อาจจะต้องประสบพบเจอกับปัญหาน้องหมามีอาการเมารถและอาเจียนออกมาได้ จึงทำให้ปัญหาเหล่านี้เป็นอุปสรรคให้กับผู้ที่ต้องการพาน้องหมานั่งรถไปด้วยทุกที่ เพื่อให้ทุกการเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น วันนี้เราได้รวบรวมเทคนิคพาน้องหมานั่งรถหรือ ลูกสุนัขเดินทางไกล อย่างไรให้ปลอดภัยและไม่มีอาการเมารถ
พาน้องหมานั่งรถ อย่างไรให้ปลอดภัยและไม่เมารถ
อันดับแรกของการฝึกให้น้องหมาไม่มีอาการเมารถคือการสร้างความคุ้นเคย เนื่องจากหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้น้องหมามีอาการเมารถและอาเจียนมาจากความกลัวเสียงของเครื่องยนต์รถและกลัวการเคลื่อนที่ของรถ วิธีการสร้างความคุ้นเคยที่ดีคือการพาน้องหมาขึ้นไปนั่งเล่นบนรถบ่อย ๆ ก่อนออกเดินทาง 1-2 สัปดาห์ เพื่อทำให้เขาสร้างความคุ้นเคยกับภายในตัวรถและสิ่งแวดล้อมรอบตัว จากนั้นก็ทำการสตาร์ตเครื่องยนต์และลองขับรถเล่นอย่างช้า ๆ ภายในหมู่บ้านเพื่อให้น้องหมาคุ้นเคยกับเสียงรถและการเคลื่อนที่ของรถ
เมื่อถึงเวลาที่ใกล้จะออกเดินทาง สิ่งสำคัญที่เจ้าของควรทำคือการงดให้อาหารน้องหมาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง สามารถให้น้องหมาทานน้ำได้เพียงเล็กน้อยและไม่ควรให้ทานอาหารมากจนรู้สึกอิ่ม เพราะการเคลื่อนที่ของตัวรถสามารถทำให้น้องหมาเกิดอาการเมารถและอาเจียนได้ในที่สุด
พาน้องหมานั่งรถ อย่างไรให้ปลอดภัย
สำหรับการขึ้นไปนั่งบนรถแล้วออกเดินทางเป็นครั้งแรกของน้องหมานับว่าเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นจนอาจเกิดอาการกลัวขึ้นมาได้ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คือการนำของเล่นชิ้นโปรดที่น้องหมาชื่นชอบและเล่นอยู่เป็นประจำติดรถขึ้นมาด้วย เพื่อเป็นการช่วยดึงดูดความสนใจต่อสิ่งรอบข้างแล้วให้เขาได้จดจ่ออยู่กับของเล่นชิ้นนี้ รวมทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจและลดความเครียดของน้องหมาได้เยอะเลยทีเดียว หรือการที่เจ้าของอุ้มน้องหมามานั่งที่ตักหรือการโอบกอดก็จะช่วยทำให้เขารู้สึกถึงความปลอดภัยและอุ่นใจตลอดเวลาที่นั่งอยู่ในรถได้
หากสุดท้ายแล้วพบว่าน้องหมาของเราไม่รอดจากอาการเมารถ โดยพบว่าน้องหมามีอาการน้ำลายเยิ้ม คอตก อ่อนเพลีย วิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคือการมองหาพื้นที่ภายในรถที่สามารถนอนได้อย่างสบาย มีอากาศถ่ายเทไม่แออัด เร่งพัดลมระบบปรับอากาศภายในห้องโดยสารให้เย็นขึ้น จากนั้นเตรียมถุงออกมารอไว้เผื่อว่าน้องหมาจะอาเจียนออกมา
ก่อนการเดินทางล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์ ควรพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพร่างกายกับสัตวแพทย์ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าน้องหมาจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและพร้อมในการออกเดินทางได้ แต่ถ้าหากตรวจพบว่าน้องหมามีโรคประจำตัวหรือป่วยก็ไม่ควรที่จะฝืนและปล่อยให้น้องเดินทางแบบเดิม เพราะอาจจะส่งผลทำให้น้องหมามีอาการร้ายแรงหนักมากกว่าเดิม
เป็นอีกหนึ่งที่สำคัญและเจ้าของไม่ควรมองข้ามคือการจัดตำแหน่งการนั่งของน้องหมาภายในรถ ซึ่งจะส่งผลต่อเรื่องของความปลอดภัยได้โดยตรง โดยตำแหน่งภายในรถที่เหมาะสมที่สุดแก่น้องหมาคือ เบาะด้านหลัง เพื่อให้น้องหมามีระยะห่างจากคนขับด้านหน้า และไม่เป็นการไปรบกวนสมาธิของผู้ขับขี่ที่อาจส่งผลทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ รวมทั้งไม่ควรให้น้องหมานั่งบริเวณพื้นรถเพราะอาจทำให้เกิดการกระแทกในเวลาที่รถตกหลุมและทำให้น้องหมาเกิดความเครียดได้
สำหรับการพาน้องหมาออกเดินทางในระยะไกล สิ่งสำคัญคือการจอดแวะพักรถทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อเป็นการพักทั้งรถ คน และน้องหมาให้ได้ลงมาเดินเล่น ขับถ่าย หรือกินน้ำ โดยการกระทำดังกล่าวนี้จะช่วยให้น้องหมารู้สึกผ่อนคลาย ลดความกังวลและไม่เครียดได้ รวมทั้งในเวลาที่รถกำลังเคลื่อนตัวไปยังเส้นทางชนบทด้วยความเร็วที่ไม่สูงนัก การเปิดหน้าต่างให้น้องหมาได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์ก็จะช่วยทำให้แก้อาการเมารถและผ่อนคลายจากความเครียดไปได้เยอะ
อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของได้พาน้องหมาออกเดินทางไปด้วยแล้วได้ลองทำตามวิธีที่แนะนำไปทั้งหมด แต่กลับยังพบว่าน้องหมามีอาการเมารถและไม่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น การพาน้องหมาเข้าพบสัตวแพทย์เพื่อคำปรึกษาหรือขอยาแก้เมารถสำหรับสุนัขก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยทำให้อาการเมารถของน้องหมาดีขึ้นและเพิ่มความปลอดภัยต่อการเดินทาง
ดูเพิ่มเติม