09:58, 29 ธ.ค. 2565

ตรอ. คืออะไร? ทำไมต้องตรวจสภาพรถยนต์ก่อนต่อภาษี

บันทึกรายการ

มาทำความรู้จักกับ ตรอ คืออะไร และ ตรอ. ย่อมาจาก อะไร เพราะเหตุใดถึงต้องตรวจสภาพรถก่อนต่อภาษี

อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่คนมีรถควรรู้นั่นก็คือการตรวจสภาพรถยนต์ โดยปกติแล้วผู้ขับขี่จะต้องตรวจเช็กสภาพรถยนต์ตามระยะทางหรืออายุการใช้งานของตัวรถ แต่เมื่อถึงเวลาที่รถมีอายุการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น ตามกฎหมายได้มีข้อกำหนดออกมาว่าจะต้องนำรถเข้าไปตรวจสภาพอย่างเป็นประจำทุกปีก่อนให้เรียบร้อยถึงจะสามารถต่อภาษีหรือ พ.ร.บ. รถยนต์ ซึ่งการตรวจเช็กสภาพรถยนต์รูปแบบนี้มีชื่อเรียกว่า ตรอ. วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักว่า ตรอ. คืออะไร และเพราะเหตุใดถึงต้องตรวจก่อนต่อภาษี บทความนี้มีคำตอบ

ตรอ. คืออะไร?

ทำความรู้จักกับ ตรอ.

ตรอ คือ สถานที่ที่เปิดให้ผู้ที่มีรถยนต์หรือจักรยานยนต์ได้นำรถของตัวเองเข้ามาตรวจเช็กสภาพรถก่อนนำไปต่อภาษี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ไม่สะดวกในการนำรถไปตรวจสภาพที่กรมการขนส่งทางบก โดยคำว่า ต รอ ย่อ มา จาก สถานตรวจสภาพรถเอกชน ซึ่งบริการดังกล่าวเหมาะสำหรับผู้ที่มีบ้านไกลและไม่สะดวกเดินทางไปยังกรมการขนส่งทางบก เพราะ ตรอ. นั้นได้กระจายอยู่ทุกทั่วพื้นที่ หากสังเกตพบว่าสถานที่เหล่านั้นมีสัญลักษณ์ ตรอ. ติดอยู่นั่นแสดงว่าได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเป็นที่เรียบร้อย หากใครที่ไม่สะดวกก็สามารถเดินทางนำรถของตัวเองเข้ามาตรวจเช็กสภาพรถได้ที่ ตรอ. ได้ในทันที

อายุรถกี่ปีถึงต้องเข้าตรวจ ตรอ.

ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติเอาไว้ว่ารถที่ใช้สำหรับขนส่งจะต้องมีสภาพที่มั่นคงและแข็งแรง รวมทั้งลักษณะของรถยนต์จะต้องถูกต้องตามที่กระทรวงได้กำหนดเอาไว้ ดังนั้น รถที่มีอายุการใช้งานเยอะจะต้องนำรถเข้าตรวจ ตรอ. ทุกปี โดยรถที่เข้าเกณฑ์การตรวจ ตรอ. มีดังนี้

  • รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน มีอายุการใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
  • รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 คน มีอายุการใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
  • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
  • รถจักรยานยนต์ มีอายุการใช้งานครบ 5 ปีขึ้นไป

โดยมีกฎเกณฑ์การนับอายุของยานพาหนะคือ นับจากวันที่จดทะเบียนครั้งแรกจนถึงวันสิ้นสุดภาษีประจำปี เช่น หากรถยนต์จดทะเบียนปี 2564 จะต้องเข้ารับการตรวจ ตรอ. ปี 2571

ค่าใช้จ่ายในการตรวจ ตรอ.

  • รถจักรยานยนต์ คันละ 60 บาท
  • รถยนต์น้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 150 บาท
  • รถยนต์น้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 250 บาท

ค่าใช้จ่ายในการตรวจ ตรอ.

รถที่ไม่สามารถเข้าตรวจ ตรอ. ได้

ใช่ว่ารถทุกประเภทหรือรถทุกคันจะสามารถเข้ารับการตรวจ ตรอ. ได้เลยทันที เพราะว่ารถบางประเภทมีข้อจำกัดและเงื่อนไขที่ทาง ตรอ. ไม่สามารถตรวจเช็กสภาพรถได้ ผู้ขับขี่จึงต้องนำรถเข้ารับการตรวจสภาพที่กรมการขนส่งทางบกเท่านั้น โดยรถที่ไม่สามารถเข้าตรวจที่ ตรอ. มีข้อยกเว้น ดังนี้

  • รถยนต์น้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม สามารถตรวจเช็กสภาพรถได้ที่ ตรอ. หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกก็ได้
  • รถของส่วนราชการ บุคคลในคณะผู้แทนทางการทูต คณะผู้แทนทางกงสุล องค์การระหว่างประเทศ ฯลฯ สามารถตรวจเช็กสภาพรถได้ที่ ตรอ. หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกก็ได้
  • ยานพาหนะที่มีการดัดแปลงสภาพ เปลี่ยนเครื่องยนต์ เปลี่ยนสีรถ รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับตัวเลขเครื่องยนต์ รถที่ขาดต่ออายุทะเบียนเกิน 1 ปี ต้องนำไปตรวจเช็กสภาพที่หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น

เตรียมเอกสารอะไรไปบ้าง

  • สมุดทะเบียนรถ (รถจักรยานยนต์เล่มสีเขียว รถยนต์เล่มสีน้ำเงิน)
  •  รถที่ต้องการตรวจสภาพ
  • เจ้าของรถ

หลังจากที่ได้นำยานพาหนะเข้าตรวจเสร็จเรียบร้อย พร้อมกับชำระค่าบริการอย่างครบถ้วน เจ้าของรถก็จะได้ใบรับรองการตรวจสภาพรถแบบเดียวกันกับที่กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดไว้ ซึ่งจะมีอายุการใช้งานเป็นเวลา 3 เดือน และสามารถนำใบรับรองฉบับนี้ไปต่อ พรบ. ได้ในทันที

หากตรวจ ตรอ. ไม่ผ่านควรทำอย่างไร

หากเจ้าของรถได้นำยานพาหนะของตัวเองเข้าตรวจ ตรอ. ครั้งแรกแล้วผลปรากฏว่ารถของเราไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็ยังไม่ต้องตกใจ เนื่องจากทาง ตรอ. จะทำการแจ้งต่อเจ้าของรถถึงความบกพร่องในด้านต่าง ๆ เพื่อให้นำรถกลับไปปรับเปลี่ยนแก้ไขใหม่แล้วนำกลับมาตรวจสภาพกับ ตรอ. อีกครั้งได้ โดยมีระยะเวลาในการแก้ไขภายใน 15 วัน และจะต้องเสียค่าบริการแค่ครึ่งเดียว แต่ถ้าหากว่าเกิน 15 วัน และนำรถเข้าตรวจ ตรอ. อีกครั้งจะต้องเสียค่าบริการเต็มจำนวน

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการนำยานพาหนะของตัวเองเข้ารับการตรวจกับ ตรอ. ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือซับซ้อนแบบที่หลายคนคิด หากเพียงแต่ว่ายานพาหนะผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างครบถ้วนโดยที่ไม่มีข้อบกพร่องก็สามารถที่จะนำไปต่อ พรบ. ได้ในทันที ดังนั้น ผู้ใช้รถทุกคนควรตรวจสอบยานพาหนะของตัวเองให้เป็นอย่างดีว่าใกล้ถึงเวลาแล้วหรือยัง เพื่อที่จะได้เตรียมตัวศึกษาหาข้อมูลและนำรถเข้ารับการตรวจ ตรอ. ได้ทันท่วงที

ดูเพิ่มเติม

ค่าออกเทน คืออะไร

สตาร์ทรถให้ถูกวิธี ควรทำอย่างไร

ในหมวดเดียวกัน