11:29, 17 มิ.ย. 2564

Honda เลิกผลิต Clarity และอีก 19 ปี Honda จะไม่มีรถน้ำมันขาย

บันทึกรายการ

Honda ประกาศตัดจบ Honda Clarity ทั้งเวอร์ชั่น PHEV และ FCEV ในเดือนสิงหาคม 2564 และเตรียมอวสานรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ในอีก 19 ปี ข้างหน้า

ให้มันจบที่เดือนสิงหาคม...Honda ประกาศยุติการผลิต Honda Clarity ที่เป็นรถเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) แล้ว พร้อมดัน i-MMD และ BEV (รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่) และภายในปี 2040 Honda ตั้งเป้าจะเลิกจำหน่ายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในอย่างสิ้นเชิง

ไม่ได้ไปต่อ Honda ขอตัดจบ ประกาศยกเลิกการผลิต Honda Clarity ทั้งเวอร์ชั่น Plug-in Hybrid และ FCEV รถไฮโดรเจนที่ใช้เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงในเดือนสิงหาคม 2564 หลังจากที่มาได้ไกลเพียงแค่ 2 เจเนอเรชั่น โดย Honda Clarity เจเนอเรชั่นแรกเปิดตัวในปี 2008 แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ


Honda FCX Clarity เจเนอเรชั่นแรก เริ่มวางจำหน่ายปี 2008 เฉพาะรูปแบบเช่าใช้ในสหรัฐฯ

จนมาถึงรุ่นปัจจุบัน ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ในแง่ของความนิยมอยู่ดีด้วยหลายข้อจำกัดและตัวแปรที่เป็นอุปสรรค ถึงจะเพิ่มเวอร์ชั่น PHEV ก็แล้ว (ดูท่าจะไปได้ดีอยู่พักเดียว) เลยต้องปิดฉากลงในที่สุด

อย่างไรก็ตาม Honda Clarity จะยังคงบริการในส่วนของ “เช่าใช้” (เดิมมีทั้งขายขาดและเช่าใช้) ต่อไปจนถึงปี 2565 ขณะที่บริการหลังการขาย Honda ยังซัพพอร์ตสำหรับลูกค้า Honda Clarity ต่อไปตามปกติ


Honda Clarity เจเนอเรชั่น 2 เปิดตัวปี 2016

นอกเหนือจากการประกาศยกเลิกการผลิต Honda Clarity แล้ว ทาง Honda ยังยืนยันจะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ปราศจากคาร์บอนในปี 2050 โดย Honda ตั้งเป้าเอาไว้ว่า ภายในปี 2040 รถใหม่ที่วางจำหน่ายจะเป็นแบบรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) หรือไม่ก็รถไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) เท่านั้น นั่นหมายความว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในจะถูกถอดออกจากทุกไลน์อัพ

และก่อนที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในของ Honda จะเดินทางไปถึงจุดจบ ระหว่างนี้ Honda จะเน้นใช้เทคโนโลยี i-MMD (Hybrid 2 มอเตอร์ แบบที่ใช้ใน Accord และ City) กับรถรุ่นหลักของตนเอง พร้อมกับเปิดตัวกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2024 หรืออีก 3 ปี ข้างหน้า

แม้ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) กำลังจะโดนเท แต่ถ้าลองสังเกตดี ๆ จะพบว่า Honda ยังคงบรรจุคำว่า Fuel Cell ลงไปในอนาคตของตัวเอง และ Honda ยังร่วมลงทุนกับพาร์ตเนอร์พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับแบตเตอรี่และเซลล์เชื้อเพลิงอีกด้วย

น่าสนใจว่า จนถึงตอนนี้แล้ว...ทำไม Honda และ Toyota ยังไม่ยอมทิ้งเทคโนโลยี Fuel Cell แล้วมุ่งไปพัฒนาแบตเตอรี่ซึ่งดูมีอนาคตกว่า แต่ถ้ามองอีกมุมการถือหลายเทคโนโลยีไว้ในมือย่อมมีความได้เปรียบหากสถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลง

เพราะจริง ๆ แล้วไม่มีใครคาดเดาทิศทางพลังงานของอนาคตในวันข้างหน้าได้ 100% อย่างการเข้ามาของพลังงานไฟฟ้าก็เป็น Paradigm Shift อย่างหนึ่ง ซึ่งใครปรับตัวได้ไวคนนั้นก็รอด การเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่าง ๆ จึงสำคัญ โดยเฉพาะค่ายใหญ่อย่าง Toyota หรือ Honda

อ่านเพิ่มเติม

ในหมวดเดียวกัน