ไฟฉุกเฉินรถยนต์ (Hazard Lights) หรือที่เรียกกันติดปากว่าไฟผ่าหมาก คือ สวิตช์ที่มีสัญลักษณ์สามเหลี่ยมอยู่บนปุ่ม โดยตัวปุ่มจะมีทั้งสีแดงและสีดำ ขึ้นอยู่กับว่ารถรุ่นนั้น ๆ จะให้สีอะไรมา ไฟฉุกเฉินมักติดตั้งอยู่ใกล้กับช่องแอร์บริเวณคอนโซลหน้า หากต้องการใช้งาน ให้กดลงไปบนปุ่ม แล้วไฟเลี้ยวทั้งสี่ด้านก็จะกะพริบขึ้นมา
ไฟผ่าหมาก คือ สวิตช์ที่มีสัญลักษณ์สามเหลี่ยมอยู่บนปุ่ม
สัญญาณไฟฉุกเฉิน ควรใช้อย่างเหมาะสม เช่น กรณีรถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวรถได้ จึงต้องเปิดไฟฉุกเฉินเพื่อเตือนให้คนอื่น ๆ ระมัดระวัง หรือกรณีที่พบเจออุบัติเหตุหรือมีสิ่งกีดขวางบนทางข้างหน้า ก็สามารถเปิดไฟฉุกเฉินให้ผู้ร่วมทางที่ตามมารับรู้ได้ เป็นการเตือนให้ระวังอีกทางหนึ่ง
สัญญาณไฟฉุกเฉิน ควรใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม
เวลาขับรถผ่านสี่แยก หรือขับรถผ่านทางแยกใด ๆ ก็ตาม ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉิน เพราะจะทำให้รถคันหลังเข้าใจผิดว่าคุณจะเลี้ยว จนอาจเกิดการเฉี่ยวชนได้ นอกจากนี้ ในช่วงที่มีฝนตกหรือหมอกลง ซึ่งส่งผลต่อทัศนวิสัยในการขับขี่ ก็ไม่ควรใช้สัญญาณไฟฉุกเฉินเช่นกัน เพราะเป็นการรบกวนสายตาของผู้ร่วมทางคันอื่น ๆ ที่สำคัญยังทำให้เกิดเข้าใจผิดคิดว่าจะเลี้ยวได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมานั่นเอง
อย่าเปิดไฟฉุกเฉินรถยนต์ขณะขับรถบนทางแยก
กฎหมายการใช้ไฟฉุกเฉินรถยนต์ มีการระบุไว้ว่าให้สามารถใช้สัญญาณไฟฉุกเฉินได้ แต่ในบางกรณีเท่านั้น
- พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 56 ระบุว่า ในกรณีที่เครื่องยนต์หรือเครื่องอุปกรณ์ของรถขัดข้องจนต้องจอดรถในทางเดินรถ ผู้ขับขี่ต้องนำรถให้พ้นทางเดินรถโดยเร็วที่สุด ในกรณีตามวรรคหนึ่งถ้าจำเป็นต้องจอดรถอยู่ในทางเดินรถ ผู้ขับขี่ต้องจอดรถในลักษณะที่ไม่กีดขวางการจราจร และต้องแสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณตามลักษณะและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
- กฎกระทรวงกำหนดส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถ พ.ศ. 2551 ข้อ 3 (จ) ให้รถยนต์ รถยนต์รับจ้าง รถสี่ล้อเล็กรับจ้าง รถยนต์บริการ และรถยนต์ส่วนบุคคล ต้องมีแสงสัญญาณเตือนอันตราย มีระบบควบคุมที่แยกจากโคมไฟเลี้ยว และเมื่อให้สัญญาณเตือนอันตรายโคมไฟเลี้ยวทุกดวงต้องกะพริบพร้อมกัน
กฎหมายการใช้ไฟฉุกเฉินรถยนต์ ระบุให้ใช้ไฟฉุกเฉินได้ในบางกรณี
สรุปได้ว่า การใช้ไฟฉุกเฉินรถยนต์ ควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เช่น กรณีรถเสีย หรือเกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถเคลื่อนย้ายรถได้ และไม่ควรใช้บนทางแยกหรือช่วงเวลาฝนตก/หมอกลง เพราะจะทำให้ผู้ร่วมทางคันอื่น ๆ เข้าใจผิดและเกิดอุบัติเหตุตามมาได้นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม >>