17:30, 26 ม.ค. 2566

ใบขับขี่สาธารณะ ทำยังไงบ้าง ยุ่งยากรึเปล่า?

บันทึกรายการ

รวบรวมขั้นตอนทําใบขับขี่สาธารณะ 2566 สำหรับผู้ขับรถแท็กซี่ สามล้อ ตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์ และรถสาธารณะอื่น ๆ ตามมาเลย!

ใบขับขี่สาธารณะ คือ เอกสารที่ผู้ขับรถสาธารณะต่าง ๆ อาทิ แท็กซี่, มอเตอร์ไซค์ หรือสามล้อ ฯลฯ ต้องมีติดตัวไว้ เพื่อยืนยันต่อเจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้มีความสามารถด้านการขับรถ ซึ่งใบขับขี่สาธารณะ มีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่

  • ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ อายุ 3 ปี
  • ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ อายุ 3 ปี
  • ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ อายุ 3 ปี

ทั้งนี้ ผู้ขับขี่จะต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะให้ตรงกับประเภทของรถ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และสำหรับใครที่อยากมีใบขับขี่สาธารณะ เรามีคำแนะนำมาฝากกัน

ดูเพิ่มเติม:


ทําใบขับขี่สาธารณะ มีขั้นตอนอย่างไร

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง กรมการขนส่งทางบกได้เปิดให้บริการพร้อมปรับใช้วิถีใหม่ New Normal โดยจะมีการตรวจวัดอุณหภูมิ และจำกัดผู้เข้าใช้บริการ ดังนั้น หากต้องการทำใบขับขี่สาธารณะ ต้องจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก https://gecc.dlt.go.th:4447/web_booking/page/ ก่อนจึงจะเข้าใช้บริการได้


เว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th:4447/web_booking/page/

แต่ก่อนจะไปจองคิวทำใบขับขี่รถสาธารณะ เรามาดูกันก่อนว่าผู้ที่ต้องการยื่นคำขอทำใบขับขี่ประเภทดังกล่าว ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

ทำใบขับขี่สาธารณะ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?

- มีสัญชาติไทย

- มีใบขับขี่ส่วนบุคคล หรือชั่วคราวที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี

- ผู้ที่จะทำใบขับขี่รถ/สามล้อสาธารณะ ต้องมีอายุ 22 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่จะทำใบขับขี่มอเตอร์ไซค์สาธารณะ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี โดยต้องเป็นมีความรู้ในการขับรถ

- ไม่พิการหรือเป็นโรคประจำตัวจนเห็นได้ว่าไม่สามารถขับรถได้

- ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน

- ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกยึดหรือเพิกถอนใบขับขี่

- ไม่เป็นผู้มีโรคติดต่อน่ารังเกียจตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

- ไม่เป็นผู้ติดสุรายาเมาหรือยาเสพติดให้โทษ

- ไม่เคยโดนคดีเกี่ยวกับการขับรถ หรือถูกเปรียบเทียบปรับตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป

- กรณีที่เคยได้รับโทษ มีหลักเกณฑ์ ดังนี้

  • เคยจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ต้องพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน
  • เคยจำคุกเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 3 ปี ต้องพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 1 ปี 6 เดือน
  • เคยจำคุกเกิน 3 ปี ต้องพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 3 ปี

กรณีอื่น ๆ เช่น โดนปรับ รอลงอาญา รอขึ้นศาล ต้องมีเอกสารจากทางคดีจากสถานีตำรวจมายืนยันชี้แจงเกี่ยวกับคดีความของผู้ขอตรวจสอบประวัติอาชญากร


ตรวจสอบประวัติอาชญากร ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เอกสารประกอบคำขอทำใบขับขี่สาธารณะ

1. บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง 1 ฉบับ)

2. ใบรับรองแพทย์ฉบับจริง ที่ออกก่อนวันยื่นคำขอไม่เกิน 1 เดือน

3. ใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลชั่วคราวที่ได้รับมาแล้วไม่น้อยว่า 1 ปี (ฉบับจริง 1 ฉบับ และสำเนา 1 ฉบับ)

4.รูปถ่าย 5 x 6.5 ซม. 3 รูป โดยจะต้องถ่ายก่อนวันยื่นคำขอไม่เกิน 6 เดือน

5.รูปถ่ายขนาด 3 x 4 ซม. 2 รูป สำหรับผู้ขอรับใบขับขี่รูปแบบเดิม (แบบพิมพ์กระดาษ) โดยจะต้องถ่ายก่อนวันยื่นคำขอไม่เกิน 6 เดือน

ขั้นตอนการทำใบขับขี่สาธารณะ

1. ตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติเบื้องต้นว่าครบถ้วนหรือไม่ และจองคิวทำใบขับขี่

2. ตรวจสอบประวัติอาชญากร โดยทำหนังสือไปยื่นที่กองทะเบียนประวัติอาชญากรสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยตนเอง จากนั้น รอผลทาง SMS เป็นเวลา 30 วัน (ทำการ) กรณีบุคคลทั่วไป ให้นำไปให้ผู้บังคับบัญชาตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกอง หรือเทียบเท่ารับรองความประพฤติ

3. ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย

  • ทดสอบการมองเห็นสี ที่จำเป็นในการขับรถ
  • ทดสอบสายตาทางลึก
  • ทดสอบสายตาทางกว้าง
  • ทดสอบปฏิกิริยาเท้า (ความสามารถในการใช้เบรกเท้า)


ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย

4. เข้ารับการอบรม

  • รถยนต์/สามล้อสาธารณะ อบรม 5 ชั่วโมง
  • รถจักรยานยนต์สาธารณะอบรม 3 ชั่วโมง

5. สอบข้อเขียน โดยจะต้องสอบให้ได้ 18 ข้อขึ้นไป จาก 20 ข้อ เมื่อทำการสอบเรียบร้อยแล้ว รอรับผลทาง SMS

*หากใบขับขี่ส่วนบุคคลชั่วคราวที่นำมายื่นหมดอายุเกิน 3 ปี จะต้องผ่านการสอบขับรถเพิ่มเติมด้วย


ทดสอบข้อเขียน


ผู้ขับรถสาธารณะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่เป็นสำคัญ

ในหมวดเดียวกัน