15:06, 2 เม.ย. 2562

ขับรถขึ้น-ลงเขา ช่วงสงกรานต์อย่างไรให้ปลอดภัย!

บันทึกรายการ

เทคนิคขับรถขึ้น-ลงเขา แบบมืออาชีพ สำหรับใครที่ต้องกลับบ้านช่วงสงกรานต์ หรือเดินทางขึ้นเขาเป็นประจำ

เทคนิคขับรถขึ้น-ลงเขา ที่ใครก็ทำได้

นอกจากช่วงปีใหม่แล้ว “เดือนเมษายน” นับว่าเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวมากที่สุด เนื่องจากตรงกับ “วันสงกรานต์” หรือวันขึ้นปีใหม่เดิม ซึ่งส่วนใหญ่มักกลับภูมิลำเนาตามจังหวัดต่างๆ แม้ว่าสมัยนี้การคมนาคมจะสะดวกมากขึ้น มีให้เลือกทั้งเครื่องบิน นั่งรถโดยสาร หรือรถไฟ แต่การขับรถกลับบ้านก็ยังเป็นที่นิยมทุกยุคสมัย อาจเพราะหลายท่านมักถือโอกาสพาครอบครัวท่องเที่ยวรายทางระหว่างกลับ และยังมีความเป็นส่วนตัวค่อนข้างมากนั่นเอง โดยเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่นทุกเทศกาลคือ เส้นทางสายเอเชีย จากภาคกลางขึ้นสู่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นทางราบอาจไม่เหนื่อยมากเท่าไหร่ แต่สำหรับถนนมิตรภาพ ทางขึ้นภาคอีสานที่จังหวัดนครราชสีมา (แถวปากช่อง) ที่เป็นทางขึ้นเขา-ลงเขา คงทำให้ผู้ที่ขับขี่ต้องลุ้นกันแบบขยับต่อขยับทีเดียว ซึ่งวันนี้ khaorot.com เรามี “เทคนิคขับรถขึ้น-ลงเขา” แบบมืออาชีพ มาฝากทุกท่านกันครับ

ใช้เกียร์ต่ำ "L" หากไม่มี L ให้ใช้ S

1. จะ “ขึ้น” หรือ “ลง” ก็ใช้เกียร์ “ต่ำ”

สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ ไม่ว่าจะขับรถขึ้นหรือลงเขาก็ต้องใช้เกียร์ต่ำเสมอ เพราะเกียร์ต่ำจะมีแรงส่งตัวขณะขึ้นเขามากกว่า และช่วงลงเขาจะใช้เกียร์ต่ำเพื่อช่วยเป็น Engine break เพิ่มแรงฉุดไม่ให้รถไถลเร็วเกินไป หากเป็นเกียร์ธรรมาดให้ใช้เกียร์ 1 หรือ 2 แต่ถ้าเป็นเกียร์อัตโนมัติ ให้สับมาที่ L หากไม่มี L ให้ใช้ S บางท่านเข้าใจผิด คิดว่าช่วงลงเขาใช้เกียร์ว่าง จะทำให้รถลงเร็วและประหยัดน้ำมัน แต่หารู้ไม่ว่าเป็นวิธิการที่อันตรายมาก เพราะจะทำให้หยุดรถไม่ทัน และอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ครับ ฉนั้น “ห้ามใช้กียร์ว่างอย่างเด็ดขาด”

2. ห้ามเหยียบเบรกบ่อย

หลายคนเวลาขับขึ้นเขาช่วงรถติดมักจะเหยียบเบรกตลอด และยังแตะเบรกชะลอช่วงขาลงบ่อยๆ ทำให้เบรกทำงานมากเกินไป เกิดความร้อนขึ้นมาและระบายไม่ทัน ซึ่งมีไม่น้อยที่ต้องจอดข้างทางเพราะ “ผ้าเบรกไหม้” วิธีช่วงลดภาระของเบรกคือขณะขึ้นเขาให้ใช้เบรกมือช่วยเมื่อรถติด และใช้เกียร์ต่ำตลอดขาลงโดยเหยียบเบรกเมื่อจำเป็นหรือใช้เบรกมือเข้าช่วย


ขับชิดซ้ายเมื่อลงเขา หรือมีทางโค้ง

3. ขับชิดซ้าย และระวังทางโค้ง

แน่นอนว่าเส้นทางขึ้นเขาทั้งภาคเหนือและอีสานย่อมมีความคดเคี้ยวไปมา (แม้ว่าบางช่วงที่อันตรายจะทำถนนใหม่ให้กว้างขึ้นก็ตาม) ซึ่งวิธิที่ปลอดภัยที่สุดคือขับชิดซ้ายตลอด ไม่เร่งแซง (ยกเว้นคันหน้าช้ามากอย่างไม่สมเหตุสมผล) และต้องระวังทางโค้งด้านหน้าเพราะอาจมีรถสวนมา โดยที่เรามองไม่เห็นเพราะโดนมุมเขาบดบัง

4. กะระยะเบรกเผื่อ

เนื่องจากขณะลงเขา จะมีน้ำหนักตัวรถ กอรปกับแรงโน้มถ่วงส่งตัวลงมาจากที่สูง อาจทำให้ระยะเบรกที่เคยขับบนถนนปกติไม่สามารถใช้ได้ ควรกะระยะเบรกเผื่อไว้จากรถคันหน้ามากกว่าเดิม เมื่อเหยียบเบรกจะได้ไม่ชนกับรถด้านหน้า


รักษาความเร็วอย่างสม่ำเสมอ

5. รักษาระดับความเร็ว

ควรรักษาระดับความเร็วเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ และเร่งเครื่องตลอดเพื่อให้รถมีกำลังขึ้นเขาอย่างต่อเนื่อง หากเร่งๆหยุดๆ จะทำให้กำลังรถตก และไถลย้อนลงมาได้

6. จอดพักเป็นระยะ

จะเห็นว่าตามเส้นทางขึ้น-ลงเขา มักมีจุดจอดพักชมวิวเป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผ่อนคลายความเมื่อยล้าขณะขับขี่ให้กับคนขับแล้ว ยังช่วงให้เครื่องยนต์และระบบเบรกได้พักอีกด้วย เป็นการเต็มพลังทั้งรถและคนไปพร้อมๆกัน

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับเทคนิคขับรถขึ้น-ลงเขา ที่เรานำมาฝาก จะเห็นว่าสามารถทำตามได้ง่ายๆไม่ยุ่งยากเลยใช่ไหมครับ นอกจาก 6 เทคนิคข้างบนแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “สติ” และ “ความไม่ประมาท” ของผู้ขับเอง ที่จะช่วยให้การเดินทางปลอดภัยมากยิ่งขึ้นครับ ขอให้เที่ยวสนุกในวันสงกรานต์นะครับ

อ่านเพิ่มเติม:
เทคนิคในการเข้าโค้งให้ปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ
ทริคง่ายๆ บังคับรถเมื่อรถลื่นควบคุมไม่ได้

Khan-Chit

ในหมวดเดียวกัน