รถขึ้นพอร์ตคืออะไร หาคำตอบได้ที่นี่!
การซื้อรถผ่าน “สินเชื่อเช่าซื้อ” หรือที่เราเรียกกันว่า “ไฟแนนซ์” ไม่ว่าจะเป็นรถป้ายแดงหรือรถมือสอง ก็สามารถขอสินเชื่อได้เช่นเดียวกัน ซึ่งมีทั้งแหล่งสินเชื่อจากธนาคารต่างๆ และบริษัทสินเชื่อเอกชน ให้ผู้เช่าซื้อเลือกขอสินเชื่อได้ตามความสะดวกเหมาะสมกับคุณสมบัติที่ทางแหล่งสินเชื่อกำหนดไว้ แน่นอนว่าหากผู้ขอสินเชื่อชำระค่างวดพร้อมดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ จะไม่เกิดปัญหาใดใดตามมา แต่ถ้าหากขาดชำระ 3 งวดติดๆกัน ทางไฟแนนซ์สามารถขอยึดรถได้ตามข้อตกลง ที่ผู้ขอสินเชื่อได้ทำไว้กับทางไฟแนนซ์ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ “พอร์ตไฟแนนซ์” ที่ทาง khaorot.com เราได้นำข้อมูลมาฝากครับ
พอร์ตไฟแนนซ์ คือรายการติดตามยึดรถของไฟแนนซ์ เป็นรายการรถที่ค้างค่างวดทั้งหมดของแต่ละบริษัท เมื่อไหร่ที่ผู้ขอสินเชื่อขาดชำระ 3 งวดติดๆกัน และไม่ติดต่อกับทางแหล่งสินเชื่อ รถที่เช่าซื้อก็จะ “ขึ้นพอร์ตไฟแนนซ์” ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งข้อมูลให้บริษัท Outsource ติดตามอีกที โดยจะติดตามรถผ่านหมายเลขป้ายทะเบียนที่ติดอยู่กับรถคันนั้นๆ (เมื่อต่อทะเบียน พ.ร.บ จะทราบ) รวมถึงติดตามที่อยู่ในเอกสาร ชื่อผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน กรณีผู้เช่าซื้อเปลี่ยนที่อยู่จนไฟแนนซ์ตามไม่พบ หากเมื่อไหร่ที่ผู้เช่าซื้อทำธุรกรรมต่างๆ ด้วยชื่อตนเอง อาทิ ขออินเตอร์เน็ต ขอหม้อแปลงไฟฟ้า กู้เงินจากบริษัทเอกชน ทางบริษัทไฟแนนซ์ก็จะสามารถติดตามผ่านทางข้อมูลเหล่านั้น
คือรถเช่าซื้อที่ทางไฟแนนซ์ยังไม่ขึ้นบัญชียึดรถ อาจกำลังอยู่ในช่วงดำเนินการ (รถหลุดจำนำที่ขาดส่งไฟแนนซ์ 2 งวดก็ยังไม่ขึ้นพอร์ต จึงตรวจไม่พบ เป็นช่องทางให้ผู้ซื้อรถหลุดจำนำโดนหลอกบ่อยๆ เพราะคิดว่ารถไม่ติดไฟแนนซ์ ไม่โดนยึด) หรือกรณีที่ผู้เช่าซื้อชำระทุกงวดตามข้อตกลง ให้สบายใจได้ว่ารถของเราจะไม่ขึ้นพอร์ตไฟแนนซ์แน่นอน
บางเพจมีบริการเช็คพอร์ตไฟแนนซ์ผ่านป้ายทะเบียนรถยนต์
สำหรับผู้ที่ขาดส่ง 3 งวดติดกัน ทางไฟแนนซ์จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนยึด 30 วัน ซึ่งรวมแล้วมีเวลาเกือบ 4 เดือนก่อนที่จะขึ้นพอร์ตยึดรถ โดยผู้ที่เช่าซื้อมักทราบอยู่แล้วว่าจะต้องติดพอร์ต หรือหากอยู่ในช่วงเวลา 30 วันที่ไฟแนนซ์แจ้งยึดรถ ให้ติดต่อกับทางไฟแนนซ์ที่ขอสินเชื่อเพื่อพูดคุยตกลงกัน (กรณีต้องการส่งงวดรถต่อ) สำหรับใครที่ซื้อรถหลุดจำนำแบบไม่มีเล่มทะเบียน (หรือมีเล่มทะเบียนปลอม ต้องเช็คกับทางขนส่งก่อน) ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าเป็นรถติดพอร์ตที่ไฟแนนซ์กำลังตามยึดครับ นอกจากนี้ก็จะมีเพจรับตรวจสอบทะเบียนรถ และตรวจข้อมูลรถขึ้นพอร์ตไฟแนนซ์ ซึ่งจะเสียค่าบริการในส่วนนี้ แต่ไม่มีใครรับรองความน่าเชื่อถือของข้อมูล
อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว ข้อมูลพอร์ตยึดรถ ส่วนใหญ่ทางไฟแนนซ์จะส่งให้บริษัท Outsource ช่วยติดตามอีกทอด (เนื่องจากจำนวนรถที่ต้องยึดมีมากมาย) เราจะเห็นในบางเพจที่มีบริการลบพอร์ต หรือแม้กระทั่งจุดขายรถหลุดจำนำก็จะมีบริการลบพอร์ตเสริมให้หากลูกค้าต้องการ ซึ่งเป็นเพียงการลบข้อมูลออกจากพอร์ตติดตามของบริษัท Outsource เท่านั้น ส่วนข้อมูลในไฟแนนซ์ยังคงเดิม หากทางไฟแนนซ์พบว่ารถที่เรากำลังครอบครอง เป็นรถในรายการยึดก็สามารถขอยึดรถได้เหมือนเดิม และที่สำคัญเมื่อผ่านไปสักระยะ ผู้ที่ให้บริการลบข้อมูลในพอร์ตยึดรถของ Outsource สามารถนำข้อมูลขึ้นพอร์ตได้เหมือนเดิมอีกด้วย (และรถก็จะโดนตามยึด หรือไม่ก็ต้องเสียเงินเพื่อให้ลบพอร์ตยึดอีกครั้ง วนเวียนไม่รู้จบ)
เมื่อไฟแนนซ์แจ้งยึดรถ หรือค้างชะระ 3 งวดติดกัน ให้รีบติดต่อทางไฟแนนซ์เพื่อเจรจา
เมื่อขาดส่ง 3 งวดติดกัน หรือได้รับการแจ้งยึดรถจากทางไฟแนนซ์ ผู้เช่าซื้อควรรีบติดต่อกับทางไฟแนนซ์ เพื่อเจรจาในการผ่อนชำระ ส่วนใหญ่จะต้องชำระเงินงวดรถบางส่วน พร้อมค่าบริการติดตามที่ทางไฟแนนซ์เรียกเก็บ จุดสำคัญคือทางไฟแนนซ์จะไม่รับฟังเหตุผลต่างๆที่คุณกล่าวอ้างว่าเป็นสาเหตุทำให้ไม่สามารถชำระค่างวดได้ เพราะเป็นความรับผิดชอบของผู้เช่าซื้อที่ต้องจัดการ ดังนั้นเพียงเจรจาผ่อนชำระ และจ่ายค่าปรับ หากไม่สามารถชำระได้จริงๆ ทางไฟแนนซ์มีสิทธิ์ยึดรถตามข้อตกลง
หากซื้อรถหลุดจำนำ แล้วตรวจสอบพบว่ารถที่ครอบครองขึ้นพอร์ตยึดของไฟแนนซ์ อาจใช้บริการลบข้อมูลพอร์ตยึดรถใน Outsource (ไม่แนะนำ เพราะจะวนเวียนเสียเงินไม่รู้จบ และเป็นการสมรู้ร่วมคิดยักยอกทรัพย์จากทางไฟแนนซ์) หรือหากทางไฟแนนซ์พบเจอต้องยอมให้ยึดรถ โดยไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ (เพราะไฟแนนซ์เป็นเจ้าของตัวจริง) และจุดที่สำคัญคือ เมื่อมีเจ้าหน้าที่มายึดรถที่เราครอบครองอยู่ ให้สอบถามแหล่งที่มาของบุคคลเหล่านั้น พร้อมกับแจ้งทางไฟแนนซ์โดยตรงเพื่อตรวจสอบข้อมูล เพราะบางครั้งเป็นเพียงกลุ่มคนกล่าวอ้าง ซึ่งทำงานเป็นกระบวนการกับจุดที่ขายรถหลุดจำนำนั่นเอง เมื่อยึดรถได้ก็จะนำไปปล่อยขายและตามยึดเหยื่อรายต่อไป
คำนวนค่าใช้จ่ายให้ละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ พอเข้าใจคร่าวๆเกี่ยวกับรถขึ้นพอร์ตไฟแนนซ์กันบ้างหรือยังครับ สมัยนี้การออกรถผ่านสินเชื่อเช่าซื้อค่อนข้างง่าย โดยเฉพาะคนที่ทำงานประจำ มีเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคาร แต่ปัญหาคือเราจะสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระในแต่ละเดือนได้หรือไม่ เพราะบางครั้งอาจเลือกซื้อรถที่มีราคาสูงเกินไป เมื่อมีรายจ่ายฉุกเฉินเพิ่มเข้ามา อาจทำให้หมุนเวียนไม่ทัน มีโอกาสถูกยึดรถสูง หากจะให้ดีควรผ่อนรถแต่ละเดือนไม่เกิน 10%-15% ของรายได้ เพราะเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ ค่าน้ำมัน ซ่อมบำรุง ต่อภาษี และประกัน ทำให้รายจ่ายของรถแต่ละเดือนเกือบ 25% เลยทีเดียวครับ อย่าลืมว่า “ซื้อรถ = ลด” ดังนั้น ไตร่ตรองให้มากสักนิด ก่อนจะคิดซื้อรถนะครับ
อ่านเพิ่มเติม: