อาจคุ้นหน้าค่าตากันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว สำหรับ Suzuki GD110HU ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยปี 2557 จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลาแล้วก็ราว ๆ 5 ปี ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ารูปร่างหน้าตาของ Suzuki GD110HU แทบไม่ตอบโจทย์กลุ่มวัยรุ่นไทยสักเท่าไร อีกทั้งยังถือว่าเป็นรถนอกกระแสอีกด้วย
งานออกแบบที่ก้ำกึ่งจะไปทางคลาสสิกย้อนยุคแบบสุด ๆ ก็ไม่ใช่ จะเป็นคลาสสิกร่วมสมัยก็ไม่เชิง สิ่งเหล่านี้เองส่งผลให้ Suzuki GD110HU ดูเป็นรุ่นรถที่ดูอึมครึมพอสมควร แต่มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรสำหรับทาง Suzuki
เพราะ Suzuki จงใจจะทำให้ Suzuki GD110HU มีราคาถูกสุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นงานออกแบบดีไซน์รวมไปถึงเทคโนโลยีก็โดนลดต้นทุนลงเต็มที่ ซึ่งวิธีการลดต้นทุนของ Suzuki ไม่ใช่การเลือกใช้วัสดุเกรดต่ำ แต่เป็นการเลือกใช้ระบบกลไกที่ไม่สูงเทคโนโลยี ซับซ้อนยุ่งยาก โดยไม่โลวเทคโนโลยีจนเป็นปัญหาสำหรับการใช้งาน
เป้าหมายของ Suzuki GD110HU ได้ถูกเจาะจงไปยังกลุ่มลูกค้าที่ใช้รถจักรยานยนต์เชิงพาณิชย์เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรทุกส่งของ เนื่องจากออปชั่นที่ติดมากับรถมีความสอดคล้องกับการบรรทุกเป็นอย่างมาก
หากจะมองหารถจักรยานยนต์ที่เน้นใช้งานเชิงพาณิชย์เป็นหลัก รถกลุ่มนี้ได้หายสาบสูญจากไทยมาเป็นเวลาเกือบ ๆ 20 ปี เห็นจะได้ ซึ่งรุ่นรถสุดท้ายก็คือ Kawasaki GTO
ดูเพิ่มเติม
Kawasaki GTO กับ Suzuki GD110HU
Suzuki GD110HU มาพร้อมกับเครื่องยนต์ 4 จังหวะ 1 ลูกสูบ Single Overhead Camshaft ระบายความร้อนด้วยอากาศ มีความจุกระบอกสูบ 113 ซี.ซี. ระยะชักที่ 51.0×55.2 มม. และกำลังอัด 9.5: 1 ส่งกำลังด้วยเกียร์ 4 จังหวะ จ่ายน้ำมันแบบคาบูเรเตอร์ พร้อมทั้งระบบสตาร์ตเท้า และสตาร์ตไฟฟ้า
ในส่วนของมิติของรถกว้าง 765 มม. x ยาว 1,905 มม. x สูง 1,065 มม. ความยาวช่วงล้อที่ 1,215 มม. ระยะห่างจากพื้น 141 มม. มีมุมคาสเตอร์ 27 องศา ระยะเทรล 80 มม. น้ำหนักสุทธิ 108 กก.
ดูเพิ่มเติม
หากมองอย่างผิวเผินถึง Suzuki GD110HU คงไม่เห็นถึงการทำการบ้านมาอย่างหนักของทาง Suzuki อย่างแน่นอน รายละเอียดต่าง ๆ ที่ถูกใส่มากับรถล้วนมีเหตุผลรองรับอย่างที่สุด
รายละเอียดแรกที่จะพูดถึงก็คือ ระบบการจ่ายน้ำมันแบบคาบูเรเตอร์ใน Suzuki GD110HU ซึ่งค่ายรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่นในไทยได้ผลิตรถจักรยานยนต์ออกมาเป็นระบบหัวฉีดหมดแล้วทุกรุ่น ยกเว้นแต่ Suzuki GD110HU เพียงเท่านั้น
ภาพประกอบ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีหัวฉีดมีความละเอียดอย่างมากในการจ่ายน้ำมัน เนื่องจากถูกควบคุมด้วยสมองกล (ECU) ทำให้การจ่ายน้ำมันมีความสอดคล้องกับเครื่องยนต์ในทุกอัตราความเร็ว
การจ่ายน้ำมันที่ละเอียดมากขึ้นมาพร้อมกับความซับซ้อนอย่างปฏิเสธไม่ได้ ปั๊มเชื้อเพลิง, Regulator, ECU, เรือนลิ้นเร่ง, หัวฉีด, เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิน้ำมันเครื่อง และออกซิเจนเซนเซอร์ ซึ่งทั้งหมดเป็นองค์ประกอบของระบบหัวฉีด หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปก็ไม่สามารถจ่ายน้ำมันได้ ซึ่งตรงข้ามกับระบบจ่ายน้ำมันแบบคาบูเรเตอร์โดยสิ้นเชิง
คาบูเรเตอร์คือกลไกที่ไม่มีระบบไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ทุกอย่างล้วนเป็นกลไกอย่างง่าย ๆ เมื่อถึงเวลาซ่อมบำรุงคาบูเรเตอร์ก็ใช้เงินจำนวนหลักร้อยในการซ่อมบำรุงเท่านั้น ซึ่งผิดกับระบบหัวฉีดที่มีค่าบำรุงรักษาสูงกว่าอยู่พอสมควร หากยิ่งซื้อมาใช้เป็นรถเชิงพาณิชย์เป็นหลัก เห็นทีว่าคาบูเรเตอร์จะกุมความได้เปรียบเรื่องค่าซ่อมบำรุงได้ประมาณหนึ่ง
ภาพประกอบ
ช่วงชักที่ยาวของเครื่องยนต์เน้นแรงบิดในรอบต่ำ เนื่องด้วยรถถูกออกแบบให้ใช้งานในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีโอกาสบรรทุกส่งของหนัก ๆ อย่างแน่นอน การที่ Suzuki ได้ออกแบบให้เครื่องยนต์มีพละกําลังในรอบที่ต่ำนั้น จะส่งผลทำให้การขับขี่มีความง่ายดายยิ่งขึ้น
สตาร์ตไฟฟ้า ถือเป็นอีกหนึ่งออปชั่นที่ใส่มาเพื่อให้มีความสะดวกสบายในการบรรทุกของอย่างแท้จริง หากบรรทุกสัมภาระหนักจนเต็มที่แล้ว การที่ผู้ขับจะมาสตาร์ตด้วยเท้าก็คงดูเป็นอะไรลำบากอย่างแน่นอน ทาง Suzuki จึงมีความจำเป็นต้องใส่ออปชั่นสตาร์ตไฟฟ้าให้แก่ Suzuki GD110HU อย่างเลี่ยงไม่ได้
ภาพประกอบ
โช้คหลังแบบคู่ ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการรองรับน้ำหนักมีประสิทธิภาพมากกว่าโช้คเดี่ยว ซึ่งการที่ Suzuki GD110HU สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากก็ถือเป็นข้อได้เปรียบคู่แข่งที่คิดจะมาทำตลาดรถประเภทนี้สู้ด้วยเช่นกัน
บาร์ท้ายที่วางสัมภาระ ทางบริษัทได้ติดตั้งบาร์ท้ายโครเมียมให้มาจากโรงงาน เพื่อรองรับการบรรทุกที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม
ประเด็นเหล่านี้คือหัวใจสำคัญของการออกแบบ Suzuki GD110HU ไม่ว่าจะเป็นในด้านการออกแบบเครื่องยนต์กลไก การซ่อมบำรุงในราคาต่ำ กลไกที่ไม่ซับซ้อน ราคารถที่ค่อนไปทางถูก (39,990 บาท) สำหรับรถแบรนด์ญี่ปุ่น ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ เพียงพอที่จะให้ Suzuki GD110HU เป็นรถจักรยานยนต์เชิงพาณิชย์ขนานแท้ !!
ขอบคุณรูปภาพจาก โบรชัวร์รถจักรยานยนต์ภาพในอดีตและปัจจุบัน